วิธีการทำปุ๋ยชีวภาพ หรือ ปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยชีวภาพ
การใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินมีสูงขึ้นโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ความสมดุล ของธรรมชาติถูกทำลายไป ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์มีส่วนเร่งการเสื่อมโทรมของดินให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอนินทรีย์ (Inorganic Fertilizer) ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่น ปุ๋ยเคมี การใช้ที่ดินทำ การเพาะปลูกติดต่อกันและการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน จะทำให้ ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว ดินจะแข็งไม่ร่วนซุย การดูดซับน้ำและแร่ธาตุอาหารของ พืชทำได้น้อยลง เกิดผลต่อเนื่องให้ดินในพื้นที่ทำการเกษตรเสื่อมโทรมอย่างถาวรโดยเฉพาะดินที่ใช้ใน การปลูกข้าว อ้อย และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ โดยจะทำให้เกิด “การใช้พื้นที่ปลูกเลื่อนลอย” เกิดการ อพยพย้ายพื้นที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ดิน (Soil Conservation) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้มีความเหมาะสมในการปลูกพืชและ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการปรับปรุงบำรุงดินโดยการ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Fertilizer) ซึ่งมีองค์ประกอบของธาตุคาร์บอนเป็นหลักเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้การดูดซับธาตุอาหารที่สำคัญของพืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านหลายพื้นที่ได้มีการ อบรมให้ความรู้ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ พอสรุปได้ดังนี้
ปุ๋ยพืชสด
เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งซึ่งได้จากการไถกลบต้น ใบและส่วนต่างๆของพืช โดยเฉพาะพืช ตระกูลถั่วที่ปลูกไว้ หรือขึ้นเองตามธรรมชาติในระยะช่วงออกดอกจนถึงดอกบานเต็มที่ ซึ่งเป็นช่วงที่มี ธาตุอาหารในลำต้นสูงสุดแล้วปล่อยให้เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชที่ปลูกตามมา นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาในการกำจัดวัชพืชได้อีกด้วย
วัสดุอุปกรณ์
1. พืชตระกูลถั่ว (เป็นพืชที่เหมาะจะนำมาเป็นปุ๋ยพืชสดมากกว่าประเภทอื่นเพราะเป็นพืชที่มีคุณค่าทางธาตุอาหารสูงต่อพืชปลูก)
2. พืชชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว
3. พืชน้ำ
ขั้นตอนวิธีทำ
1. ปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสด 3 กลุ่มพืชดังที่กล่าวข้างต้นร่วมกับพืชปลูก ในแปลงปลูก โดยอาจพิจารณาปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดชนิดต่างๆ ตามความสัมพันธ์กับพืชปลูก
2. เมื่อถึงกำหนดอายุของพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดให้ตัดสับและไถกลบลง ในแปลงปลูก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างอายุที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวของพืช บางชนิด เช่น โสนอินเดีย ตัดสับและไถกลบเมื่ออายุ 80-90 วันหลังปลูก ถั่วนา ไถกลบเมื่ออายุ 75 วันหลังปลูก เป็นต้น
3. การพิจารณาในแง่ใช้ประโยชน์สูงสุด ต้องพิจารณาจากลักษณะพื้นที่ในการปลูก เป็นหลัก
โดยแบ่งได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
3.1 ปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดในลักษณะพื้นที่เป็นแปลงใหญ่ ให้ทำการ ตัดสับและไถกลบลงไปในพื้นที่นั้นเลยก่อนที่จะปลูกพืชปลูกหลักชนิดอื่นๆตามมา
3.2 ปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดในลักษณะตามร่องระหว่างพืชปลูกหลัก โดยปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดหลังจากพืชปลูกหลักเติบโตเต็มที่แล้ว เพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหาร ในดิน เมื่อพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดเริ่มออกดอกจนถึงดอกบานก็ทำการตัดสับและไถกลบลงไปในดิน ระหว่างร่องพืชปลูกหลัก
3.3 ปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสดในลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยปลูกพืชที่จะ นำมาทำปุ๋ยพืชสด (พืชน้ำ) แล้วตัดสับใส่และไถกลบลงไปในดิน ก่อนที่จะทำการปลูกพืชหลัก เช่น นา ข้าว นาบัว และนาแห้ว เป็นต้น
การใช้ประโยชน์
1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่พืชปลูก
2. ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและทำให้ดินร่วนซุยสะดวกในการไถดิน
3. กรดจากการย่อยสลายช่วยละลายธาตุต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่พืชปลูก
4. ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพราะดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อพืชปลูก
5. ลดอัตราการสูญเสียดินเนื่องจากการชะล้างพังทลายของดิน (solerosion)