กระทรวงพาณิชย์ ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตร (ตอนที่ 1)
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรทั้ง 4 สินค้า ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยได้กำหนดการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมแล้วขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ประเภทแทน โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 10 ล้านไร่ มีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตัน เป็น 16 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณผลผลิตกว่า 180 ล้านตัน พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจาก 8 ล้านไร่ เป็น 8.5 ล้านไร่, เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด จาก 7 ล้านไร่ เป็น 7.4 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จาก 4.5 ล้านไร่ เป็น 7.5 ล้านไร่
“การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจดังกล่าว จะไปลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนา หันมาปลูกพืชไร่เศรษฐกิจทั้ง 4 ประเภทต่อไปและเชื่อว่าการเพิ่มปริมาณพื้นที่เพาะปลูกนั้น จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบอาเซียนได้อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต”
ผมให้ความสนใจกับการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 116/2557 โดยให้คณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่
1.การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
2.การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
3.การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและส่งเสริมการผลิตให้ได้มาตรฐานและมูลค่าเพิ่ม
4.การผลิตแบบเกษตรแผนใหม่ (Modern Farming)
5.การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)
เหตุที่ให้ความสนใจเพราะยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้อนี้ เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เกิดขึ้นตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เคยเสนอต่อ คสช. มาก่อน
ประเด็นที่น่าสนใจ ทำไมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงสนใจพืชทั้ง 4 ชนิด เป็นพิเศษ น่าจะเป็นเพราะว่าประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของเครื่องมือการเกษตรและโรงงานน้ำตาลใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ที่ต้องการอ้อยเป็นวัตถุดิบ รองประธานคนหนึ่งก็เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ รวมทั้งกรรมการอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของโรงงานมันเส้น เป็นเจ้าของลานมัน และส่งออกมันสำปะหลัง ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีความใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ และหลายคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสมาชิกคณะปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดังนั้น ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด ที่ถูกกำหนดโดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ก็คือการตอบสนองความต้องการวัตถุดิบของกลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ โดยผ่านคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน
การลดพื้นที่ปลูกข้าว 10 ล้านไร่ และเพื่อไปเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกปาล์มน้ำมัน ตามตัวเลขที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ายุทธศาสตร์ของพืช 4 ชนิด แต่เป็นการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรครั้งใหญ่ที่สุดของภาคเกษตรไทย หากยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ประเด็นที่ผมมีข้อสังเกต คือ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีส่วนรับรู้หรือมีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือไม่ เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ ผู้ปฏิบัติที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการลดพื้นที่ปลูกข้าว 10 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชทั้ง 4 ชนิด คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สังกัด หากเกิดการผิดพลาดขึ้นมาโดยไม่สามารถดำเนินงานตามเป้าหมายได้ หรือเกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราคา เกษตรกรเหล่านี้จะต้องเล่นงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ
ผมยังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยอีกว่า การที่จะเพิ่มหรือลดพื้นที่ของกิจกรรมทางด้านการเกษตร น่าจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เหตุไฉนกระทรวงพาณิชย์จึงต้องเอาเรื่องนี้มาดำเนินการเอง เพราะสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่นี้ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพี่น้องเกษตรกรโดยตรง กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทและหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างไรจึงได้ทำงานโดยเฉพาะด้านนโยบายการเกษตรที่เป็นการล้ำเส้นเกินขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นไปตามที่ผมเคยพูดไว้ว่า “กระทรวงพาณิชย์ พ่อค้าคิด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำ เกษตรกรเจ๊ง”
ผมจะวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนและต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่องไป
cr.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย