กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ามาตรการเร่งด่วนช่วยชาวสวนยาง
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 กว่าบาท และสูงขึ้นเกือบ 150 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2553-2554 จากนั้นก็ลดลงจนถึงปัจจุบันเหลือกิโลกรัมละ 50 กว่าบาท ยังมาซึ่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการรวบรวมข้อเสนอแนะจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และจัดทำรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเมื่อ 21 ตุลาคม 2557 เห็นชอบในมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน คือ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน ซึ่งมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ิ รวมทั้งเอกสารสิทธิ 46 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ ที่ ทส 1602.5/5527 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 มีประมาณ 8.2 ล้านไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน วงเงินรวม 8,453.99 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินจ่ายชดเชยเกษตรกร 8,200 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส.คิดต้นทุนในอัตรา FDR+1 และให้ ธ.ก.ส. จัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชำระคืนต้นเงินจากการดำเนินงานตามโครงการ และค่าชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. และค่าบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวน 253.99 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายปีแรก จำนวน 253.99 ล้านบาท
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-15 ธ.ค. 57 โดยผู้มีสิทธิเข้าร่วมต้องเป็นผู้ปลูกยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จากนั้นคณะกรรมการตรวจรับรองสิทธิทั้งระดับตำบลและคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับอำเภอจะตรวจรับรองสิทธิทั้งผู้ปลูกยางพารารายเดิม ที่เคยขึ้นทะเบียนและอยู่ในหลักเกณฑ์ประมาณ 800,000 ราย จากกว่าล้านราย ที่เหลือไม่ผ่านหลักเกณฑ์ เช่น ไม่มีเอก สารสิทธิ เป็นต้น รวมถึงตรวจรับรองรายใหม่ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.–31 มี.ค. 58 ส่วนกรณีที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็จะเปิดรับขึ้นทะเบียน โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรทุกประการ
วิธีการตรวจสอบรับรองสิทธิเกษตรกรแบบใหม่ที่ให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมจะทำให้การตรวจรับรองสิทธิมีการรัดกุมและละเอียดมากขึ้น ยากต่อการสวมสิทธิ ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินนั้น จะผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ตามผลการตรวจรับรองของคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับอำเภอ
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ภายในกลางเดือนพฤศจิกา ยนและจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยเบื้องต้นผู้ที่มีสิทธิรับเงินจะต้องเป็นรายที่มีพื้นที่ปลูกมีเอกสารสิทธิชัดเจน และเปิดกรีดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 เดือน ส่วนรายที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ต้องมีหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ จึงจะรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวได้.