ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
สวนวาสนาผลิตเมล่อนคุณภาพแบรนด์ “ ฟาร์มเฟรช ”
ป้อนห้างสรรพสินค้าสัปดาห์ละ 3-5 ตัน บนพื้นที่กว่า 130 ไร่
สวนวาสนา นับเป็นผู้ผลิตแคนตาลูปและเมล่อนรายใหญ่อันดับต้นๆ ของบ้านเรา ด้วยพื้นที่การผลิตที่มากถึง 130 ไร่ ส่งผลผลิตป้อนห้างมานานกว่า 10 ปี ในชื่อ “ ฟาร์มเฟรช (FARM FRESH) ” แบรนด์เมล่อนคุณภาพที่ลูกค้าติดใจและเชื่อมั่น ซึ่งการผลิตพืชชนิดนี้ในพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ให้มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยฝีมือจริงๆ และด้วยความที่แคนตาลูปและเมล่อนเป็นพืชที่ต้องใช้ฝีมือในการผลิตอย่างมากนี่เองจึงเป็นข้อจำกัดในการลงทุนของเกษตรกรทั่วไป และหากจะบอกว่าเมล่อนคุณภาพสูงขนาดนี้มาจากฟาร์มที่ปลูกกลางแจ้ง ไม่ได้ปลูกในโรงเรือนแต่อย่างใด
จากวิศวกรรมเครื่องกลสู่ฟาร์มเกษตร
วาสนาฟาร์มเกิดจากความตั้งใจของสามพี่น้อง คือ คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ,คุณวาสนา สุพิงค์ และ คุณสรชา อรุณโรจน์ศิริ โดยมีหัวหอกสำคัญคือ คุณภานุวัฒน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันจับงานเกษตรอย่างจริงจังเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ด้วยวัยไม่ถึง 30 ทั้งที่การศึกษาและสายงานในอดีตห่างไกลจากเกษตรกรรมเหลือเกิน
คุณภานุวัฒน์ เล่าว่า เขาเรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล จากเทคโนโลยีมหานครและทำงานด้านอุตสาหกรรม จนเมื่อ ปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หลายธุรกิจได้รับผลกระทบเขามองว่า งานที่ทำอยู่อาจจะไม่สดใสนัก จึงมองหาธุรกิจใหม่ และเมื่อมาศึกษาภาคเกษตรเขาก็สนใจและหันมาจับงานที่ไกลตัวเหลือเกิน เริ่มแรกเขาใช้พื้นที่ 12 ไร่ ที่มีอยู่ปลูกพืชหลายชนิด ตัวเด่นคือ ผักอินทรีย์ แคนตาลูป เมล่อนและมะละกอเรดมาราดอร์หรือฮอลแลนด์ แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะทุ่มเทให้กับผลผลิตเพียงชนิดเดียวที่เขามองว่ามีอนาคตที่ดีกว่าพืชชนิดอื่น นั่นคือ เมล่อน และแคนตาลูป จากพื้นที่ปลูกเพียง 1 ไร่ ก็ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น 130 ไร่ ในปัจจุบัน
สายพันธุ์บันไดขั้นสำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
คุณภานุวัฒน์ ให้เหตุผลที่เลือกพัฒนาแคนตาลูปและเมล่อนให้เหนือชั้น ว่า เมล่อนเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องมีความรู้ ต้องใช้เทคโนโลยี และค่อนข้างเสี่ยงต่อความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของพืชชนิดนี้ แต่ก็เป็นตัวบ่งบอกว่าคู่แข่งทางการตลาดก็จะมีน้อยตามไปด้วย ความยากในการผลิตกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับคุณภานุวัฒน์ที่จะต้องหาคำตอบ
" เรื่องของสายพันธุ์คือโจทย์ข้อแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ผมทดลองสายพันธุ์ที่นี่มากกว่า 30 ชนิด ซึ่งการทดลองแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าจะให้แม่นยำจริงๆ ก็คือ 3 ปี จึงจะสรุปได้ว่า สามารถปลูกได้ในพื้นที่นี้ได้และสามารถทำตลาดได้ต่อเนื่อง เราพยายามหาสายพันธุ์เองทั้งสายพันธุ์ของไทย ของไต้หวัน และของญี่ปุ่น "
ผลจากความพยายามในการคัดสรรสายพันธุ์แคนตาลูปและเมล่อนที่ดี วาสนาฟาร์มจึงลงตัวที่ผลผลิตคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด จำนวน 8 สายพันธุ์ นั่นคือ กลุ่ม เมล่อน ก็จะมีออเรนจ์เนต (เนื้อส้ม) กรีนเนต (เนื้อเขียว ) ไซตามะเมล่อน แคนตาลูป ก็จะมีท็อปซัน(เนื้อส้ม) ท็อปสตาร์ (เนื้อเขียว) สีทอง จะมีพันธุ์ ท็อปโกลด์ (เนื้อขาว) โกลเด้นท์ ซัน(เนื้อส้ม) และ ซันไช่ แอปเปิ้ลเมล่อนซึ่งเป็นพันธุ์จากไต้หวัน
เทคนิคการผลิตเมล่อนคุณภาพคือความใส่ใจในทุกขั้นตอน
วาสนาฟาร์มมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 130 ไร่ กระจายอยู่ทั้งหมด 3 สวนย่อย มีการปลูกตลอดทั้งปี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวงจรของโรคจะไม่ขาดจากพื้นที่เลย โรคหนักๆ ช่วงฝนก็จะเป็นราและแบคทีเรีย ส่วนช่วงหนาวก็จะเป็นราแป้ง ราน้ำค้าง ส่วนแมลงก็จะดุเดือดในช่วงร้อน โดยเฉพาะเพลี้ยไฟที่หนักสุด รองลงมาเป็นเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพราะรอบๆ พื้นที่แปลงปลูกล้อมรอบด้วยนาข้าวซึ่งหลีกเลี่ยงการระบาดของเพลี้ยไฟได้ยาก จึงวางแผนปลูกไม่ให้ชนกับช่วงเก็บเกี่ยว โดยเพลี้ยไฟจะมีผลมากในช่วง 30-45 วัน การวางแผนปลูกจึงต้องดูการผลิตของพื้นที่รอบข้างและวางแผนปลูกก่อนเก็บเกี่ยวประมาณเดือนครึ่ง
คุณภานุวัฒน์ เล่าถึง เทคนิคการปลูกเมล่อนของวาสนาฟาร์มว่า ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับเมล่อนอยู่ที่ ระยะระหว่างต้น 40 ซม. ระหว่างแถว 50-60 ซม.จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 3,000 ต้น/ไร่ สำหรับการไว้ลูกจะเลือกไว้ลูกในข้อที่ 9-11 โดยเลือกลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงลูกเดียว ความสูงต้นอยู่ที่ 20-25 ใบ ส่วนของการตัดแต่งใบจะต้องทำเว้นวันจนถึงอายุ 50 วัน เรียกว่าการปลูกแคนตาลูปจะมีกงานให้ทำทุกวันเลยทีเดียว
ส่วนของปุ๋ยจะให้ไปพร้อมกับระบบน้ำ โดยใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จจากบริษัทผลิตปุ๋ย ปุ๋ยหลักๆ จะใช้เพียง 2 สูตร คือ สูตร 13-13-13 โดยจะใช้ช่วงแรกจนถึงเลือกลูก อายุประมาณ 45 วัน หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนมาใช้สูตร 12-6-18 ซึ่งจะให้สูตรนี้ไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ปริมาณการให้ปุ๋ยเฉลี่ย 1 กรัมต่อต้น การให้ปุ๋ยจะให้วันเว้นวัน ทั้งนี้ทั้งนั้นการให้ปุ๋ยก็จะต้องวิเคราะห์การเจริญเติบโต สภาพต้นและอื่นๆ มาประกอบกันด้วยจึงจะนำไปสู่การจัดการที่ตรงกับความต้องการของต้นพืช ซึ่งนอกจากปุ๋ยทางระบบน้ำแล้วยังมีธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นสำหรับเมล่อนอีกหลายตัว อย่างถ้าผลไม่สมบูรณ์ก็ต้องให้แคลเซียม-โบรอน ถ้าเส้นใบมีสีเหลือง ใบไม่เขียวเข้มก็ต้องให้แมกนีเซียม ช่วงฤดูหนาวก็ต้องให้ซิงค์หรือสังกะสีกระตุ้นเมตาโบลิซึม หรือหากมีอาการเหลืองทั้งใบก็อาจจะเกิดจากการขาดธาตุอาหารรอง
แม้จะมีการปลูกซ้ำที่มานานกว่า 8 ปี เนื่องจากพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งนั่นอาจจะเกิดจากการจัดการและเตรียมดินที่ดี ทั้งการเก็บวัชพืช เศษซากของต้นออกจากแปลง การทำสะอาดแปลง การระบายน้ำที่ดี การปรับปรุงดินของที่นี่ก็จะมีทั้งการใช้ขี้เถ้าแกลบ โดโลไมท์ ร็อกฟอสเฟต ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ดิน ซึ่งการเตรียมดินที่ดีก็จะนำไปสู่ต้นที่ดี และต้นที่ดีก็นำไปสู่การจัดการโรค-แมลงที่น้อยลง ถ้าเน้นความสมบูรณ์ของต้นได้ การจัดการก็น้อย โดยช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงที่ยากที่สุด ในส่วนของการจัดการปุ๋ย ยานั้นจะมีทีมตรวจสอบการระบาดก่อนการใช้สารเคมี ซึ่งคุณภานุวัฒน์บอกว่า การใช้สารเคมีหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แรงงานที่เพิ่มขึ้น ยอมทุ่มเทในเรื่องของการตรวจสอบดีกว่าการทุ่มทุนซื้อยาหรือจ้างคนมาฉีดยา
สำหรับสารเคมีที่ใช้ในสวนก็จะเลือกให้เหมาะสมและพ่นให้ตรงกับจังหวะการระบาดมากที่สุด โดยจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด สารเคมีในกลุ่มเชื้อราและแบคทีเรียก็จะมีคาร์เบนดาซิม แมนโคเซ็บ ฟอรั่ม โพลี่อาร์ฟอส คอปเปอร์ ส่วนปัญหาแมลงก็จะมีเพลี้ยไฟเป็นตัวหลักที่เจอตลอดทั้งปีเนื่องจากพื้นที่ข้างเคียงเป็นนาข้าว ก็จะมีการป้องกันขั้นแรกไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น การขึงซาแลนดำรอบสวนเป็นเนวป้องกัน การเลือกช่วงเวลาการปลูก ส่วนสารเคมีที่ใช้ก็จะมีหลายชนิด ทั้งอะบาเม็คติน เมโทมิล ไดคาโซล อิมิดาคลอพริด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง แต่สิ่งที่คุณภานุวัฒน์บอกว่าสำคัญที่สุดมากกว่าปุ๋ยและยาก็คือ คนดูแลที่ต้องใส่ความตั้งใจลงไปจึงจะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ความต้องการของพืช
วางแผนปลูกทุก 7 วันๆละ 10,000-14,000 ต้น
ป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดสัปดาห์ละ 3-5 ตัน
แผนการปลูกเมล่อนของสวนวาสนาจะมีการวางแผนลงปลูกทุก 7 วัน ครั้งละ 10,000-14,000 ต้น เพื่อส่งให้กับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็จะมี คาร์ฟูร์, เดอะมอลล์, ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, โกลเด้นท์ เพลส, เลมอน ฟาร์มและบริษัทส่งออกเล็กๆอีก 2-3 ราย ซึ่งจะส่งผลผลิตเข้าสู่ตลาดสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆละ 800-1500 กก. โดยจะตัดเมล่อนทุกวันหรือวันเว้นวัน โดยราคาของผลผลิตที่ส่งให้กับห้างนั้นถ้าเป็นเมล่อน ราคาอยู่ที่ 70-90 บาท /กก. แคนตาลูป 40 บาท/กก. สีทอง 55 บาท/กก. แอปเปิ้ลเมล่อน 55 บาท ทางห้างก็จะบวกราคาเพิ่มอีกประมาณ 30% เป็นค่าการจัดการก่อนจะถึงผู้บริโภค
คุณภานุวัฒน์บอกว่า ความสำเร็จในการทำตลาดนั้นต้องมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 1. สามารถสร้างความต่อเนื่องของสินค้าได้ไหม 2.สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้าได้ไหม 3.สามารถรักษาคุณภาพได้ไหม 4.สามารถรักษาความปลอดภัยของสินค้าเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคมั่นใจได้ไหม
ข้อมูล สวนวาสนา 67 ม.5 ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี โทร.081-9948868(คุณภานุวัฒน์)
ติดตามความรู้ด้านการเกษตรดีๆได้ที่ กลุ่มเกษตรก้าวใหม่ cr.Rakkaset Nungruethail
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ