จากภูมิพัศยะฟาร์ม…สู่ โกลบอล ออร์แกนิคส์ฯ
ซัพพลายเออร์รายใหญ่ส่งมะละกอป้อนห้างวันละกว่า 10 ตัน
ย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ในวงการมะละกอย่อมรู้จักชื่อเสียงของ ภูมิพัศยะฟาร์ม เป็นอย่างดี ภูมิพัศยะฟาร์มนับเป็นผู้ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ในช่วงต้นๆ ที่มะละกอพันธุ์นี้เริ่มโด่งดังในท้องตลาด โดยมุ่งเป้าผลิตมะละกอคุณภาพป้อนตลาดบนอย่างห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ในพื้นที่ 40 ไร่ ที่สวน อ.หนองแค จ.สระบุรี เวลาผ่านไปภูมิพัศยะมีการพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้ผลิตเองก็กลายมาเป็นผู้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะละกอฮอลแลนด์เพื่อป้อนตลาดบน ในนาม บริษัท โกลบอล ออร์แกนิค ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ส่งผลผลิตให้กับห้างสรรพสินค้าหลายแห่งด้วยออร์เดอร์ที่มากถึง 10 ตันต่อวัน บางช่วงออร์เดอร์มากถึง 15-20 ตัน/วันเลยทีเดียว
คุณฐิติศักดิ์ เติมวารี ผู้บริหารบริษัท เล่าว่า ภูมิพัศยะฟาร์มเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นผู้ปลูกมะละกอเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บนพื้นที่ 40 ไร่ ที่สระบุรี หลังจากที่ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ ก็ได้นำไปเสนอห้าง ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งทางท็อปส์ ก็รับซื้อทันทีเนื่องจากผลผลิตที่สวนมีคุณภาพและมีปริมาณมากพอสำหรับการสั่งซื้อของทางห้าง โดยมีออร์เดอร์ส่งท็อปส์สัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละ 1,500 กก. ซึ่งแม้สวนจะมีพื้นที่ปลูกกว่า 40 ไร่ แต่ผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับออร์เดอร์ที่ต้องส่ง จึงทำให้ต้องขยายพื้นที่ปลูกของสวนเองพร้อมกับการเกิดแนวคิดเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยระบบลูกไร่ ตอนนั้นสวนขยายพื้นที่จากสระบุรีขึ้นไปยังพื้นที่ใน จ.เชียงราย และข้ามไปยังฝั่งลาว เคยปลูกมะละกอในพื้นที่มากถึง 400 ไร่ แต่สุดท้ายคุณฐิติศักดิ์บอกว่า ตลาดที่ขยายตัวและเติบโตด้วยออร์เดอร์การสั่งซื้อจากห้างหลายแห่งรวมกันที่มากถึง 10 ตัน/วัน ทำให้ไม่สามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายไปพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน จึงหยุดการทำสวนมะละกอและหันมาใช้ระบบส่งเสริมลูกไร่ปลูกประมาณ 50 % อีก 50% ใช้วิธีการซื้อจากสวนที่ได้คุณภาพ
ในส่วนของลูกไร่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตภาคเหนือเป็นหลัก คือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ โดยระบบลูกไร่จะเน้นทำในลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับกลุ่ม ขณะเดียวเกษตรกรรายใหญ่ที่มีศักยภาพการผลิตก็สามารถเข้ามาเป็นลูกไร่ได้เช่นกัน โดยในส่วนของลูกไร่ทางบริษัทจะให้คำแนะนำปรึกษาในการปลูกและผลิตตลอด เริ่มตั้งแต่การเข้าไปดูพื้นที่ ศักยภาพการผลิตและมีการตั้งหัวหน้ากลุ่มเพื่อประสานงานกับบริษัททั้งด้านการผลิตและการตลาด ลูกไร่จะนำผลผลิตมาจำหน่ายโดยผ่านกลุ่ม ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถรวมตัวกันเข้ามาเป็นลูกไร่ได้ ในส่วนของการรับซื้อทางบริษัทไม่ได้ทำสัญญาการรับซื้อหรือราคาประกันให้แต่จะรับซื้อตามราคาตลาดซึ่งลูกไร่จะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่เนื่องจากไม่ถูกกดราคารับซื้อ
ปัจจุบัน โกลบอล ออร์แกนิค ส่งผลผลิตป้อนห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจนอาจจะกล่าวได้ว่าวันนี้ โกลบอล ออร์แกนิค เป็นผู้นำในการส่งมะละกอฮอลแลนด์ป้อนตลาดห้างก็ว่าได้ โดยมีสัดส่วนของการส่งผลผลิตในแต่ละห้าง ดังนี้ บิ๊กซี 30% โลตัส 30% แมคโคร 20% ท็อปส์ 20% รวมผลผลิตตามออร์เดอร์การสั่งซื้อต่อวันประมาณ 10 ตัน ในช่วงที่ออร์เดอร์การสั่งซื้อเยอะก็จะสูงถึง 15-20 ตัน ลองนึกถึงมะละกอขนาด 15,000-20,000 กก. แล้วหลายคนแทบนึกไม่ออกเลยว่ามันมากมายมหาศาลขนาดไหน ก็ลองนึกถึงรถปิ๊กอัพกั้นคอกสูงที่ขนมะละกอเต็มคันก็ประมาณ 3-4 ตัน เท่ากับว่าจะต้องมีมะละกอเข้ามาส่ง 3-5 คันรถต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งต้องใช้คนงานมากถึง 20 คนในการทำงาน โดยมะละกอที่จัดส่งจากสวนจะห่อกระดาษหนังสือพิมพ์แต่ละผลมา จากนั้นจะต้องนำมาแกะกระดาษออก คัดเกรดตามสเป็กของแต่ละห้าง ใส่โฟมตาข่าย ติดสติ๊กเกอร์ บรรจุใส่ตะกร้าห้าง น้ำหนักต่อตะกร้าส่วนใหญ่ก็ประมาณ 12-15 กก.แล้วลำเลียงขึ้นรถเพื่อขนส่งไปยังศูนย์กระจายของแต่ละห้าง โดยในหนึ่งจะมีรอบการส่งสินค้ามากถึง 7 รอบ เริ่มจากโลตัสส่ง 2 รอบ ตี 1 กับบ่ายโมง บิ๊กซีส่ง 2 รอบ ตี 1 กับ 9 โมงเช้า แมคโครส่ง 1 รอบ 5 โมงเย็น ท็อปส์ ส่ง 1 รอบ บ่าย 2 เรียกว่าทำงานกันทั้งวันเลยทีเดียว
สำหรับสเป็คมะละกอที่ส่งแต่ละห้างนั้นจะแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ขนาดผล 8 ขีดขึ้นไปถึง 1.4 กก. ความหวานไม่ต่ำกว่า 12 บริกซ์ รูปร่างผลสวย ตรงตามสายพันธุ์ แต่จะมีส่วนของเกรดพรีเมี่ยมในห้างแมคโคร บิ๊กซี และท็อปส์ จะใช้ผลขนาด 1.5 กก. ทั้งนี้มะละกอทุกแปลงที่จะส่งห้างต้องได้มาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย GAP ส่วนของผลผลิตเกรดพรีเมี่ยมต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงปลูกได้ ผลผลิตจากสวนที่นำมาส่งจะมีผลผลิตที่ตกเกรดอยู่ประมาณ 20-30% ทำให้คุณฐิติศักดิ์เปิดแผงจำหน่ายที่ตลาดไทด้วยเพื่อรองรับผลผลิตส่วนที่ตกเกรดนี้
การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจะไม่แตกต่างจากมาตรฐานการรับซื้อของแม่ค้าในตลาดขายส่งทั่วไป ปกติจะคัดมะละกอ 3 เกรด คือ เกรด เอ 8 ขีดขึ้นไป เกรด บี 6-8 ขีด เกรด ซี 5-6 ขีด ต่ำกว่านี้ถือว่าตกเกรดจะไม่รับซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่คุณฐิติศักดิ์จะแนะนำให้ลูกไร่ปลิดผลเล็กทิ้งตั้งแต่ในช่วงของการเลี้ยงผลแล้ว
ในส่วนของซัพพลายเออร์ที่ส่งผลผลิตให้กับห้างนั้น คุณฐิติศักดิ์บอกว่า แต่ละห้างจะมีซัพพลายเออร์อยู่ประมาณ 3-4 ราย ที่จะจัดส่งผลผลิตให้ ซึ่งแต่ละห้างก็พยายามแข่งขันที่จะสร้างมาตรฐานของสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในห้าง ดังนั้นซัพพลายเออร์แต่ละรายก็ต้องแข่งขันกันเพื่อจัดหาของที่มีคุณภาพให้กับห้างเช่นกัน
“ในส่วนของราคารับซื้อนั้นผมมองว่า ราคามะละกอบ้านเราที่ขายในตลาดล่างอย่างตลาดไท สี่มุมเมือง หรือตลาดอื่นๆ ตอนนี้ ซื้อขายกันในราคาที่สูงเกินไป ช่วงปกติซื้อขายกันที่ 18-20 บาท/กก. ถึงมือผู้บริโภคก็ 25-30 บาท/กก.หรือในช่วงผลผลิตขาดตลาด ซื้อขายกันที่ 22-28 บาท/กก. ราคาขายปลีกถึงผู้บริโภค 35-45 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป ความจริงแล้วราคามะละกอน่าจะซื้อขายกันถูกกว่านี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตมะละกอไม่สูงขนาดนี้ หากราคามะละกอถูกลงกว่านี้น่าจะทำให้ตลาดมะละกอขยายตัวและเติบโตมากกว่านี้และมะละกอก็จะเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง”
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ที่อยู่ในวงการมะละกอคุณฐิติศักดิ์มองว่า ตลาดมะละกอมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลผลิตที่จะส่งเข้าสู่ตลาดด้วยเช่นกัน
ข้อมูล คุณฐิติศักดิ์ เติมวารี บริษัท โกลบอล ออร์แกนิค ดีเวลลอปเม้ท์ จำกัด
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร