ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
มันสำปะหลัง ระบบน้ำหยด ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ที่ อ.เสิงสาง
ถึงแม้ว่าช่วงนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวลดลงมาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก และก็ไม่รู้ว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งนี้จะเป็นไปอย่างไร ฉะนั้นประเทศไทยเราที่มีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงาน ขณะเดียวก็เตรียมสำรองพลังงานด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันจากพืชพลังงานทดแทน อย่างเช่น อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศและรองรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นวันไหน
จากความต้องการและแนวโน้มความต้องการใช้พืชพลังงานอย่างมันสำปะหลังส่งผลให้มันสะหลังราคาพุ่งสูงขึ้นจนจูงใจให้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักในแทบจะทุกภาคของบ้านเรา ขณะเดียวกันมันสำปะหลังที่เคยเป็นพืชที่ปลูกทิ้งปลูกขว้างก็ได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อให้มันสำปะหลังให้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับผู้ปลูก แนวทางหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังก็คือระบบน้ำหยด ซึ่งลงทุนติดตั้งระบบน้ำเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยแต่ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว และเทคโนโลยีนี้ก็ได้รับความสนใจจากชาวไร่มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะพิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้จริง ด้วยเหตุนี้ทีมงานรักษ์เกษตรจึงไปติดตามการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยดของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมานานกว่า 19 ปี อย่างคุณสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร และหันมาใช้ระบบน้ำหยดเป็นรายแรกๆเลยทีเดียว ซึ่งคุณสมศักดิ์ เองก็ยินดีเล่าถึงเทคนิค และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังกับเราอย่างไม่หวงวิชาเลยทีเดียว
ปลูกมันสำปะหลังกว่า 90 ไร่
ใช้ระบบน้ำหยดมานานกว่า 4 ปี
คุณสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร เล่าว่า ตัวเขาเองปลูกมันสำปะหลังมานานกว่า 18-19 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็มีพื้นที่ปลูกมันรวมทั้งหมดประมาณ 90 ไร่ โดยจะทยอยปลูกเป็นแปลงๆ แปลงละ 7 ไร่บ้าง 8 ไร่บ้าง 10 ไร่บ้าง 14 ไร่บ้าง แล้วแต่ว่าแต่ละแปลงจะมีพื้นที่เท่าใด แต่ที่แน่ๆ คือคุณสมศักดิ์จะมีการทยอยปลูกมันสำปะหลังทุกเดือน ตามปกติแล้วเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมปลูกกันในช่วงหลังเดือนมีนาคม เพราะเริ่มเข้าหน้าฝน แต่สำหรับคุณสมศักดิ์แล้ว เขาสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ทุกฤดู เนื่องจากว่า 4 ปีที่ผ่านมานี้เขาปลูกมันโดยใช้ระบบน้ำหยดมาโดยตลอด โดยคุณสมศักดิ์ได้เล่าถึงเทคนิคการเพิ่มผลผลิตมัน ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้ระบบน้ำหยดให้เราฟังว่า เดิมนั้นคุณสมศักดิ์ก็ได้ปลูกมันสำปะหลังโดยอาศัยธรรมชาติ ซึ่งก็อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ปริมาณผลผลิตที่ได้ต่อไร่ในแต่ละปีนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้นคุณสมศักดิ์จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรผลผลิตต่อไร่จึงจะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมาสังเกตเห็นว่าแปลงพืชผักส่วนใหญ่เขาจะใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์และระบบน้ำหยดกัน ซึ่งก็ได้ผลผลิตดี อีกทั้งยังสามารถที่จะปลูกพืชผักช่วงไหนก็ได้โดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งรอฝน จากความคิดดังกล่าว คุณสมศักดิ์จึงได้ทดลองใช้ระบบน้ำหยดดู โดยตอนแรกนั้นได้ทดลองกับพื้นที่เพียง 3 ไร่ ก่อน ผลปรากฏว่าได้ผลดีมาก ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 ตัน จากที่เมื่อก่อนเคยทำได้แค่ 5.5-6 ตันเท่านั้นเอง จากนั้นมาเขาก็หันมาใช้ระบบน้ำหยดจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนที่เริ่มใช้ระบบน้ำหยดใหม่ๆ นั้นคุณสมศักดิ์ยังไม่ค่อยมีทุน เขาจึงได้เข้าร่วมโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำเงินมาขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 10 ไร่ จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันพื้นที่ปลูกมันของคุณสมศักดิ์เพิ่มเป็น 90 ไร่แล้ว
ลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดเพียงไร่ละ 4,000 กว่าบาท
ผลผลิตเกินคุ้ม
คุณสมศักดิ์เล่าว่า ขั้นแรกก็ต้องทำการเตรียมดินก่อน โดยการรองพื้นด้วยขี้ไก่แกลบ 30-40 กระสอบ/ไร่ ประมาณ 400 กก./ไร่ พร้อมทำการหว่านปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 15-15-15 จำนวน 25 กก./ไร่ จากนั้นทำการไถกลบด้วยผาล 3 และไถแปรด้วยผาล 7 เสร็จแล้วทำการวางระบบน้ำหยด โดยวางสายน้ำหยด ระยะ 150 x 40 ซม.
สำหรับการวางระบบน้ำหยดนั้นจะประกอบด้วยอุปกรณ์หลายอย่าง นั่นก็คือ สายน้ำหยด, ท่อพีวีซี, หัวปลาไหล, วาล์วเปิด-ปิด, ปั๊มน้ำ และเครื่องคูโบต้า ซึ่งต้นทุนเกี่ยวกับการวางระบบน้ำหยดก็จะตกอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท/ไร่ แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นแค่ กิโล หรือ 2 กิโล แต่เพิ่มขึ้นเป็นตันๆ และอายุการใช้งานของระบบน้ำหยดก็นานพอสมควร ประมาณ 3-5 ปีถึงจะเปลี่ยนสายใหม่ แต่ถ้าเป็นทุนรวมทั้งหมดต่อไร่ ถ้าคิดทั้งค่าปุ๋ย ยา ฮอร์โมน และอื่นๆ รวมเบ็ดเสร็จแล้วก็ประมาณ 6,500 บาท/ไร่
สำหรับการเตรียมท่อนพันธุ์นั้น คุณสมศักดิ์แนะนำว่า ควรเลือกท่อนพันธุ์ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 8-12 เดือน โดยจะต้องเลือกท่อนพันธุ์ที่มีความสดและใหม่ ปราศจากโรคและแมลง ถ้าจะให้ดีก่อนปลูกควรตัดส่วนหัวและโคนทิ้งประมาณ 10-20 ซม. เหลือไว้เฉพาะช่วงกลางท่อน เพราะช่วงกลางท่อนเป็นช่วงที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด จากนั้นก็นำมาตัดเป็นท่อนๆ ละ 25 ซม. แล้วจึงนำไปปลูกลงแปลง
ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำหยด
ประหยัดปุ๋ย ลดต้นทุนลงไปกว่าครึ่ง
นำท่อนพันธุ์ที่เตรียมไว้มาปักตั้งตรงลึกไม่เกิน 5 ซม. ได้จำนวนต้นมันสำปะหลัง 1,600 กว่าต้น/ไร่ ปลูกเสร็จทำการรดน้ำตามทันที โดยช่วงแรกนี้จะรดทุกๆ 2-3 วัน และในแต่ละครั้งจะรดนาน 2-3 ชั่วโมง และเมื่อต้นมันสำปะหลังตั้งตัวได้แล้วก็จะให้น้ำทุกๆ 7 วัน
ส่วนการใส่ปุ๋ยคุณสมศักดิ์จะเน้นการให้ปุ๋ยทางน้ำเสริมในช่วงที่มันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือนแรกหลังปลูก โดยใช้สูตร 25-5-5 ผสมกับน้ำปล่อยไปตามระบบน้ำหยดเดือนละครั้ง โดยพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปุ๋ย 1 กก.ต่อน้ำ 8 ลิตร เพื่อเป็นการช่วยบำรุงต้นและใบ จากนั้นพอมันสำปะหลังอายุ 4-5 เดือนก็จะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อีกครั้ง ปริมาณ 25 กก./ไร่ และเมื่อมันสำปะหลังอายุ 6-7 เดือน เปลี่ยนมาให้สูตร 12-4-40 เพื่อบำรุงหัวและเร่งแป้ง แต่ก่อนนั้นคุณสมศักดิ์จะให้ปุ๋ยมันโดยการหว่านบริเวณโคนต้น แต่ปัจจุบันได้ให้ปุ๋ยไปทางระบบน้ำหยด ซึ่งก็ลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยลงไปได้มากทีเดียว เมื่อก่อนที่ให้โดยการหว่านที่โคนต้นจะให้ในอัตรา 225 กก./พื้นที่ 5 ไร่ แต่ปัจจุบันที่ให้ตามระบบน้ำหยดก็ลดลงเหลือ 100-125 กก./พื้นที่ 5 ไร่
การเก็บเกี่ยว
โดยปกติมันสำปะหลังทั่วๆ ไป จะสามารถปลูกได้นานปีกว่า ถึง 2 ปี จึงค่อยเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าสามารถปลูกได้นาน ไม่เก็บเกี่ยวเร็ว ผลผลิตที่ได้ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น และเปอร์เซ็นต์แป้งก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุของมันสำปะหลัง แต่สำหรับคุณสมศักดิ์นั้น เขาเลือกที่จะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังช่วงอายุ 10-11 เดือน ทั้งนี้ก็เพราะต้องเอาเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว ซึ่งก็จะได้ผลผลิตสูงถึง 7-9 ตัน/ไร่ จากที่เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้ใช้ระบบน้ำหยดนั้นผลผลิตเพียง 5-6 ตัน/ไร่ เท่านั้น แต่ถ้ายังไม่เก็บเกี่ยวในช่วงนี้ ทิ้งระยะการเก็บเกี่ยวออกไปอีกหน่อย คุณสมศักดิ์บอกว่าผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 10-12 ตันเศษ ถ้าเก็บเกี่ยวตอนเดือนที่ 10-12
เปรียบเทียบต้นทุนและผลิตผลผลิตแบบน้ำหยดกับแบบธรรมชาติ
แบบน้ำหยด ต้นทุนต่อไร่ 25,686 บาท ผลผลิตต่อไร่ 7-9 ตัน รายได้ต่อไร่ 64,000 บาท หักต้นทุนแล้วเหลือกำไรต่อไร่ 38,314 บาท
แบบไม่ติดระบบน้ำ ต้นทุนต่อไร่ 16,677 บาท ผลผลิตต่อไร่ 5-6 ตัน รายได้ต่อไร่ 25,000 บาท หักต้นทุนแล้วเหลือกำไรต่อไร่ 8,323 บาท
ข้อมูล คุณสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร บ้านเลขที่ 40 ม.6 ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา โทร. 081-2827482
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ