ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
เยี่ยมสวนมะพร้าวน้ำหอมส่งนอก 60 ไร่ ที่สมุทรสาคร สร้างอาชีพยั่งยืนนานกว่า 20 ปี
(ตอนนี้มะพร้าวน้ำหอมหาคนปลูกยากล่ะ และหาสวนใหญ่ๆยากด้วย)
มะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาช้านาน และเราก็เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญติดอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว ด้วยพื้นที่ปลูกที่มีมากกว่า 1.5 ล้านไร่ ผลผลิตกว่า 1.4 ล้านตัน และมะพร้าวน้ำหอมของไทยก็มีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอมมากกว่าคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จึงทำให้มะพร้าวน้ำหอมของเราเป็นสินค้าส่งออกที่นำเงินตราเข้าสู่ประเทศแต่ละปีมูลค่าไม่น้อย แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิต เนื่องจากพื้นที่ในการผลิตลดลงอย่างมาก เพราะเกษตรกรรุ่นใหม่หันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน อีกทั้งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบให้มะพร้าวติดผลน้อยลง รวมไปถึงการระบาดของแมลงศัตรูที่ระบาดไปทั่วทุกแหล่งผลิตทำให้ผลผลิตลดลงไปมาก ราคามะพร้าวจึงสูงขึ้น
แหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญของบ้านเรา และจัดได้ว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ให้รสชาติของมะพร้าวน้ำหอมหวานอร่อยกว่าที่อื่นๆ อยู่ใน 4 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรีและนครปฐม เขตนี้เกษตรกรยึดอาชีพปลูกมะพร้าวน้ำหอมกันมานานมากกว่า 20 ปี มีล้งรับซื้อและแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมกระจายอยู่ทั่วไปเพื่อรองรับผลผลิตสำหรับป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรที่นี่ยังยืนหยัดปลูกมะพร้าวน้ำหอมแม้เวลาจะผ่านไปและมีพืชใหม่ๆเข้ามาปลูกในพื้นที่บ้างก็ตาม
ลุงประดิษฐ์ นิ่มสาคร ชาวสวนมะพร้าว อยู่ที่ ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนหยัดปลูกมะพร้าวน้ำหอมส่งขายมานานกว่า 20 ปี แม้ตอนนี้จะอายุมากแล้วก็ยังมีความสุขอยู่กับสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชทำเงินสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับลุงประดิษฐ์มาโดยตลอด
ลุงประดิษฐ์เป็นชาวสมุทรสาครโดยกำเนิด ชีวิตจึงอยู่กับอาชีพทำสวนมาตั้งแต่เกิดและก็ยึดอาชีพนี้เลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด ก่อนหน้าที่จะปักหลักกับการปลูกมะพร้าวมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ลุงประดิษฐ์ก็หมุนเวียนกับการปลูกพืชมาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชผักต่างๆ รวมทั้งมะนาวพืชยอดฮิตของที่นี่ เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นการปลูกพืชหมุนเวียนอย่างพืชผักที่ต้องใช้แรงงานและการดูแลค่อนข้างมากก็เริ่มเป็นเรื่องที่ยากสำหรับลุงประดิษฐ์ จึงมองหาพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก เพราะแรงงานก็หายาก พืชที่ลงทุนไม่มาก ความเสี่ยงน้อย สุดท้ายก็มาลงตัวที่มะพร้าวน้ำหอมซึ่งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ชาวสวนที่นี่นิยมปลูกจนเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของบ้านเรา มะพร้าวน้ำหอมรุ่นแรกในสวนอายุ 20 ปี และมะพร้าวรุ่นใหม่อายุ 5-6 ปี โดยมะพร้าวรุ่น 20 ปีนี้เตรียมจะตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่ เพราะถ้าอายุต้นมากๆ ผลผลิตจะลดลงและดูแลค่อนข้างลำบาก เพราะต้นจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การฉีดพ่นยาแมลงยากขึ้น การเก็บเกี่ยวก็ยาก
มะพร้าวที่นี่จะปลูกบนร่องสวน ร่องหนึ่งจะปลูกได้ประมาณ 15 ต้น 4 ร่องจะได้ 1 ไร่ เท่ากับว่า 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 60 ต้น ลุงประดิษฐ์ บอกว่า มะพร้าวเป็นพืชที่ดูแลน้อยมากเมื่อเทียบกับพืชอื่น เป็นพืชที่เหมาะกับคนอายุมากหรือไม่ค่อยมีเวลามาดูแลสวน เพราะเดือนหนึ่งก็จะใส่ปุ๋ยกันครั้งหนึ่ง ใช้สูตร 16-16-16 ต้นละ 1 กก. ลุงประดิษฐ์ บอกว่า ชาวสวนบางรายไม่ใส่ปุ๋ยเลยก็มี หรือถ้าใส่ก็จะเป็นขี้วัว ปุ๋ยคอกทั่วๆไป แต่ที่สวนต้องใส่เพื่อให้มะพร้าวติดดกและให้ผลผลิตที่ดี โดยแต่ละครั้งที่ใส่ปุ๋ย พื้นที่ 60 ไร่นี้จะใช้ปุ๋ยประมาณ 40 กระสอบต่อครั้งต่อเดือน หรือประมาณ 40,000 กว่าบาท เรื่องของด้วงก็มีบ้างแต่ก็ไม่เยอะ ซึ่งจะมารบกวนตอนหน้าหนาว ถ้าด้วงเจาะก็จะเห็นเป็นขุยๆ ที่ต้น ก็จะใช้สารไซเปอร์เมทรินฉีดพ่น ต้นใหญ่ๆ ก็ฉีดพ่นปีละครั้ง ต้นเล็กๆก็จะฉีดปีละ 2-3 ครั้ง ส่วนหญ้าใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่น ประมาณสองเดือนครั้ง ถ้าหน้าฝนก็เดือนละครั้ง ฉีดพ่นยาแต่ละครั้งจ้างแรงงาน 2,000-3,000 ใช้เวลา 3-4 วันจึงเสร็จ ค่ายาฆ่าหญ้าฉีดพ่นครั้งหนึ่งประมาณ 2,500-2,800 บาท นอกจากนี้ต้องลอกเลนปีละครั้งจ้างแรงงานลอกขึ้นมา วาละ 6 บาท ร่องละ 400 กว่าบาท ประมาณ 130 ร่อง ค่าลอกเลนปีหนึ่งก็ประมาณ 50,000 กว่าบาท นอกจากนี้ก็จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงโครงสร้างดินโดยใส่ขี้ไก่ ขี้หมู ปีละครั้งใส่ต้นละ 1 กระสอบๆ ละประมาณ 15 กก. ค่าจ้างแรงงานใส่กระสอบละ 1 บาท มะพร้าวมีประมาณ 1,000 กว่าต้น
มะพร้าวน้ำหอมอายุประมาณ 3 ปี ก็ตัดขายได้แล้ว ที่นี่จะตัดทุก 15 วัน ส่งพ่อค้ารายใหญ่ที่จะนำไปส่งออกยังประเทศ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และอังกฤษ และพ่อค้ารายย่อยที่จะนำไปทำวุ้นมะพร้าว ตลาดส่งนอกประมาณ 70% อีก 30 % ส่งขายตลาดในประเทศ ตัดมะพร้าวครั้งหนึ่งก็จะได้ประมาณ 10,000 กว่าลูก วันหนึ่งตัด 5,000-6,000 ลูก ใช้เวลาตัด 2-3 วันจึงหมดทั้งสวน ถ้าส่งนอกจะรับซื้อทั้งหมด แต่ถ้าเป็นพ่อค้ารายย่อยจะทยอยตัด ครั้งละ 2,000 ลูก ปริมาณการให้ผลผลิตและการตัดมะพร้าวแต่ละรอบก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ช่วงแล้งมะพร้าวจะไม่ค่อยดก ตัดแต่ละครั้ง 6,000-10,000 ลูกต่อครั้ง ช่วงหน้าฝนมะพร้าวติดดกตัดมะพร้าวแต่ละครั้งประมาณ 30,000-40,000 ลูก มะพร้าวจะเริ่มดกตั้งแต่ต้นฝนแล้วจะเก็บดกๆ อย่างนี้ไปได้นานจนถึง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายน โดยจะเริ่มออกจั่นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หลังออกจั่นประมาณ 3 เดือนก็จะตัดขายได้ สำหรับการให้ผลผลิตมะพร้าวจะให้ผลผลิตดกๆ ตั้งแต่อายุประมาณ 6 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 10 ปี อายุ 15 ปีก็จะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง
ในส่วนของราคามะพร้าวลุงประดิษฐ์บอกว่า ปกติแล้วช่วงนี้ ประมาณเดือน ก.พ.-เม.ย. มะพร้าวจะมีราคาแพงประมาณ 7-8 บาท/ลูก ช่วง 1-2 ปีมานี้ราคายิ่งแพงเพราะผลผลิตมะพร้าวลดลงไปมาก 14-15 บาท/ลูก ถัดจากช่วงนี้ผลผลิตน้อยราคาคงสูงขึ้น ไปจนถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มะพร้าวเริ่มเยอะก็จะเริ่มราคาถูกลง มะพร้าวเยอะมากช่วง ส.ค.-ก.ย. ปกติแล้วช่วงร้อน (มี.ค.) มะพร้าวจะเริ่มขาดคอแล้ว ตัดครั้งหนึ่งจะได้ 4,000-5,000 ลูก ช่วงสงกรานต์อากาศร้อน มะพร้าวขายดี เพราะคนชอบทาน ทานแล้วชื่นใจ มะพร้าวขายดี ราคาแพง ทุกปี
การตัดมะพร้าวพ่อค้าจะนำแรงงานมาตัดเองถึงที่สวน เวลาตัดใช้ตะขอเกี่ยวขั้วผลมะพร้าวให้ตกลงมา แล้วก็จะมีคนขนออกมาจากร่อง ค่าแรงเก็บเกี่ยวเจ้าของสวนจะเป็นคนจ่ายลูกละ 50 สต. การขายผลผลิตจะนับขายเป็นลูก ถ้ามะพร้าวต้นแก่ อายุมากก็จะมีลูกเล็กๆ ด้วย แม่ค้าก็จะนับ 2 ลูกเป็นหนึ่งลูก แต่เจอไม่เยอะถ้ามีมะพร้าว 10,000 ลูก จะเจอลูกเล็ก 100-500 ลูก
ส่วนใครที่คิดจะลงทุนปลูกมะพร้าวหอม ลุงประดิษฐ์บอกว่า ยังน่าปลูกและยังน่าลงทุน การปลูกมะพร้าวเป็นอาชีพเหมือนเสือนอนกิน ไม่ต้องดูแลมาก ลงทุนไม่มาก ไม่ต้องใช้แรงงานมาก เดือนหนึ่งทำงานไม่กี่วันแต่มีรายได้เดือนละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็เก็บเป็นเงินก้อน แต่ปลูกมะพร้าวต้องปลูกในพื้นที่เยอะๆ พื้นที่น้อยๆ ไม่คุ้ม อย่างน้อยต้อง 20 ไร่ขึ้นไป มะพร้าวใช้เวลา 3 ปีกว่าจะตัดขายได้ ช่วงแรกๆ ต้องหาพืชมาปลูกในร่องเพื่อสร้างรายได้ก่อน ลุงประดิษฐ์เองช่วงแรกก็ปลูกพริกก่อน พอมะพร้าวอายุได้ 3-4 ปี เริ่มตกจั่นแล้วก็เลิกปลูก ตอนนี้พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลงเพราะคนปลูกใหม่ไม่ค่อยมี คนรุ่นใหม่จะปลูกพืชที่ให้ผลผลิตเร็วมากกว่า ก็เป็นไปได้ว่าราคามะพร้าวน่าจะสูงขึ้น ส่วนใครที่สนใจจะปลูกมะพร้าวลุงประดิษฐ์ก็มีต้นพันธุ์จำหน่าย
ข้อมูลเพิ่มเติม คุณประดิษฐ์ นิ่มสาคร 135 ม.2 ต.ดอนยายหอม อ.บ้านแพ้วจ.สมุทรสาคร โทร.085-2429123
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ