ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
มาริสสาฟาร์ม … ฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่นคุณภาพ ผลิตก้อนเชื้อและดอกเห็ดจำหน่าย สร้างเครือข่าย สร้างรายได้หมุนเวียน
ด้วยรสชาติที่อร่อยของเห็ดโคนญี่ปุ่นจึงทำให้เห็ดชนิดนี้ได้รับความนิยมในการบริโภคและตลาดมีความต้องการสูง จึงทำให้เห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในการเพาะเพื่อป้อนตลาดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่ดูเหมือนว่ายังเปิดกว้าง เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางทีมงานได้เข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่น ที่ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม นั่นคือ มาริสาฟาร์ม ซึ่งนับเป็นฟาร์มโคนญี่ปุ่นที่ได้มาตรฐานและมีการเปิดดอกเห็ดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เราจึงนำเทคนิคดีๆ ในการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นของฟาร์มแห่งนี้มาฝากกัน
คุณวิไลรัตน์ มั่งสมบูรณ์ หรือ คุณอุ๊ เจ้าของ มาริสาฟาร์ม เล่าให้ฟังว่า ที่นี่จะมีทั้งโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ดซึ่งจะผลิตก้อนเชื้อเห็ดหลายชนิด เช่น นางรม ภูฐาน ฮังการี เป๋าฮื้อ และมีโรงเรือนเปิดดอกเห็ดซึ่งจะเปิดดอกเฉพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นอย่างเดียว
คุณอุ๊ ย้อนให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมาเพาะเห็ดนั้นคุณอุ๊ทำงานบริษัทมาก่อน เมื่อเห็นเพื่อนบ้านเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นและเห็ดเป๋าฮื้อก็เกิดความสนใจอยากจะเพาะดูบ้าง จึงเริ่มนำก้อนเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่นและเห็ดเป๋าฮื้อมาเปิดดอกในครั้งแรก 2,000 ก้อน และเห็นว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดที่ราคาค่อนข้างดี ตลาดเปิดกว้างและก็ไม่เหนื่อยมาก แล้วจึงเริ่มศึกษาเรียนรู้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มเพาะเห็ดครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเห็ดโคนญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดมากนัก การทำตลาดในช่วงแรกๆ ก็เป็นไปค่อนข้างลำบาก แต่มาช่วงประมาณ 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้ ผู้บริโภคเริ่มรู้จักเห็ดโคนญี่ปุ่นกันมากขึ้น จึงทำให้การทำตลาดเริ่มเดินไปได้ในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะมีราคาค่อนข้างแพงกว่าเห็ดทั่วๆไป แต่ด้วยรสชาติที่อร่อยถูกใจผู้บริโภคก็ทำให้การตลาดเปิดกว้าง ปัจจุบันมีทั้งลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการบริโภคเห็ดโคนญี่ปุ่น สำหรับต่างประเทศนั้นก็จะมี ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนทางประเทศยุโรปและอเมริกาจะเน้นส่งจำหน่ายในรูปของเห็ดแปรรูปเป็นส่วนใหญ่ ตลาดภายในประเทศนั้นเห็ดโคนญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นเห็ดที่ค่อนข้างราคาแพง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ค่อนข้างมีกำลังซื้อ ซึ่งต่างจากเห็ดฟาง เห็ดภูฐาน เป๋าฮื้อ ที่ผู้บริโภคทุกระดับสามารถซื้อได้ไม่ยากนัก
ช่วงแรกที่เพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นก็ซื้อก้อนเห็ดจากฟาร์มอื่นมาเปิดดอก จากนั้นก็เริ่มศึกษาการทำก้อนเชื้อเห็ดเอง ลองผิดลองถูกเรื่อยมาและได้ซื้ออุปกรณ์ในการผลิตก้อนเชื้อ เช่น เตานึ่ง เครื่องอัดก้อน เครื่องผสมขี้เลื้อย เพื่อผลิตก้อนเชื้อ และปรับปรุงสูตรอาหารเพื่อผลิตก้อนเชื้อที่ให้ปริมาณดอกต่อก้อนสูง ซึ่งปัจจุบันนอกจากผลิตก้อนเชื้อเห็ดใช้เองแล้วยังผลิตก้อนเชื้อเห็ดจำหน่ายและเป็นที่รู้จักของฟาร์มเห็ดต่างๆ ว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตก้อนเชื้อเห็ดคุณภาพอีกด้วย
จากนั้นคุณอุ๊ก็พาเราไปดูเทคนิคการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นในโรงเปิดดอก โดยขนาดของโรงเรือนที่นี่จะยาว 20 เมตร ความสูงถึงจั่ว 5 เมตร ความสูงถึงคาน 3 เมตร ชั้นวางก้อนเชื้อเห็ดสูง 1.5-2 เมตร ระห่างระหว่างชั้น 80 ซม.ถึง 1 เมตร เพื่อให้ทำงานได้สะดวก โรงเรือนหนึ่งบรรจุได้ 20,000 ก้อน ภายในโรงเรือนจะวางระบบน้ำแบบพ่นฝอยไว้ด้านบนตรงกลางระหว่างทางเดิน ซึ่งหัวพ่นฝอยจะกระจายน้ำในรัศมีประมาณ 50 ซม. ซึ่งรัศมีน้ำจะชนกันพอดี รูปแบบโรงเรือนที่กล่าวมาจะลงทุนประมาณ 35,000 บาท รวมค่าแรงแล้ว (เป็นราคาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว) ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท เพราะวัสดุและค่าแรงแพงขึ้น
คุณอุ๊บอกว่าโรงเรือนเปิดดอกเห็ดโคนญี่ปุ่นต้องไม่เตี้ยจนเกินไปเพราะจะทำให้ร้อนและอับชื้น การออกดอกของเห็ดจะไม่ดีเท่าที่ควร โรงเรือนจะต้องโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยฤดูกาลที่เห็ดโคนญี่ปุ่นจะให้ผลผลิตดีจะเป็นฤดูฝนและหนาว
การเปิดดอกเห็ดโคนญี่ปุ่นจะเริ่มจากดึงสำลีและกระดาษออก แล้วเขี่ยเม็ดข้าวฟางออกให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าปริมาณก้อนเชื้อที่เปิดดอกเยอะจะเขี่ยให้หมดภายใน 2 วัน หลังจากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน เพื่อให้ก้อนเห็ดปรับสภาพกับอากาศ แสง ความชื้น หรือสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนได้ดี ในวันแรก ใช้สายยาง(ปลายสายยางสวมหัวพ่นฝอย) โชยน้ำหน้าก้อนแล้วเปิดสปริงเกลอร์ให้น้ำด้านบนนาน 1 นาที ในช่วงเช้า กลางวัน เย็น วันที่ 2-4 ทำเหมือนกัน วันที่ 5 -12 หยุดรดน้ำหน้าก้อน เปิดสปริงเกลอร์อย่างเดียว จนกว่าจะเก็บดอกหมด โดยหลังจากโชยน้ำติดต่อกัน 5-7 วัน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ โดยจะเก็บผลผลิตทุกวันต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ 12 เห็ดจะหมดรุ่น ทำการพักก้อน 15-20 วัน แล้วจึงเริ่มมาให้น้ำใหม่เหมือนกับครั้งแรกที่กล่าวมา พอเก็บดอกเห็ดประมาณ 7 วัน เห็ดก็จะหมดรุ่นต้องพักก้อนเชื้ออีก ทำเช่นนี้เป็นเรื่อยๆ ก้อนเชื้อเห็ดจะสามารถเก็บดอกได้นาน 1.5 ปี ถ้าดูแลดีอาจอยู่ได้ถึง 2 ปี ถ้าในช่วงท้ายๆของปีแรกแล้วยังเก็บดอกได้ 40-50% ก้อนเชื้อนี้ก็ยังเอาไว้ได้แต่ต้องรักษาคุณภาพของดอกเอาไว้ด้วย สภาพของดอกต้องขายได้ราคา ปีแรกของการเก็บดอกเห็ดยังไม่ต้องบำรุงก้อนเพราะในก้อนมีอาหารอยู่อย่างเพียงพอแล้ว พอขึ้นปีที่สองอาหารภายในก้อนเชื้อเริ่มจะน้อยลง ให้เติมธาตุอาหารเสริมเข้าไปในก้อนเชื้อเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ดอกเห็ดออกดีขึ้น โดยธาตุอาหารที่ใช้ ก็คือ พลายแก้ว (อาหารเห็ด) ของ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในก้อนเชื้อ โดยจะให้ธาตุอาหารเดือนเว้นเดือนไม่ให้ทุกเดือน ทางฟาร์มจะเปิดดอกเห็ดสลับกันไป ให้มีดอกเห็ดเก็บขายได้ตลอดทั้งปี โดยหนึ่งโรงเรือนที่บรรจุก้อนเชื้อเห็ด 20,000 ก้อน จะได้ปริมาณดอกเห็ด 180-200 กก./เดือน ถ้าเปิดดอก 2 โรงเรือนพร้อมกัน 40,000 ก้อนก็จะได้ปริมาณดอกเห็ด 350-400 กก.ต่อเดือนต่อรอบ โดยปริมาณดอกเห็ดต่อก้อน(ตั้งแต่เริ่มเปิดจนเก็บดอกหมด) 2-2.5 ขีด ปริมาณของดอกอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ และฝีมือของแต่ละคน
คุณอุ๊ บอกว่า การให้น้ำในโรงเรือนเห็ดในแต่ละเดือนนั้นจะไม่เหมือนกันเพราะอุณหภูมิในแต่ละฤดูไม่เท่ากัน ในเดือน มี.ค.-เม.ย. อากาศค่อนข้างการกระตุ้นดอกเห็ดทำยาก เพราอากาศร้อนจัด ขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสมในโรงเรือนสำหรับการออกดอกของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 26-29 องศา ดังนั้นช่วงร้อนต้องเพิ่มรอบการให้น้ำเป็น 2 ชม./ครั้ง ปริมาณน้ำที่ให้เท่าเดิมแต่บ่อยขึ้น จาก 3 รอบ เป็น 5-6 รอบต่อวัน ช่วงฝนถ้าฝนตกพรำๆ จะรดน้ำ เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละ 10-20 วินาทีเท่านั้น ช่วงหน้าหนาว ลมหนาวจะพัดพาความชื้นในโรงเรือนไปหมด ให้รดน้ำบ่อยๆ แต่ครั้งละน้อยๆ ในการให้น้ำนั้นช่วงหน้าหนาวและหน้าร้อนจะให้บ่อยๆ
ส่วนด้านการตลาดนั้นที่นี่จะมีลูกค้ามารับดอกเห็ดสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 300-400 กก.ต่อสัปดาห์ ที่นี่นอกจากจะเปิดดอกเองแล้วยังยังรับซื้อดอกเห็ดจากลูกฟาร์มด้วย โดยราคารับซื้อดอกเห็ดทั้งช่อจากลูกฟาร์มประกันราคาอยู่ที่ 115 บาท/กก. ขายส่งให้แม่ค้าที่ 120 บาท/กก. ถ้าแม่ค้ารายย่อยที่ซื้อปริมาณไม่มากก็ขายส่งที่ 130-140 บาท ราคาที่กล่าวมาเป็นเห็ดคละแต่ก็เรียกว่าดอกสวย แต่ถ้าคัดเอาแต่ดอกใหญ่ ได้มาตรฐาน แล้วแพ็คลงถุงๆละครึ่งกิโลกรัมจะขายส่งที่ 150 บาท/กก. ขายปลีก 180 บาท/กก. โดยเห็ดที่เก็บมาแล้วจะนำมาเก็บรักษาในตู้เย็น ถ้าเป็นตู้เย็นปกติจะอยู่ได้ 2-3 วัน แต่ถ้าเก็บในตู้แช่แข็งแล้วใส่น้ำแข็งที่บดละเอียด มีความเย็นที่อุณหภูมิได้ระดับก็จะเก็บรักษาอยู่ได้ 7-8 วัน ซึ่งขั้นตอนในการรักษานี้สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นเลยเช่นกัน
นอกจากจะพาไปดูเทคนิคการเปิดดอกเห็ดแล้วคุณอุ๊ยังพาเราไปดูขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ดอีกด้วย โดยสูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ดของมาริสาฟาร์มจะใช้ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 300 กก. รำละเอียด 20 กก.กากถั่วเหลืองหรือข้าวโพดป่น 5-6 กก.ยิปซั่ม 1.5 กก.ดีเกลือ 4 ขีด ภูไมท์ 2 กก.ปูนขาว 2 กก. EM 1 ลิตร กากน้ำตาล 2 ลิตรโดยนำ EM และกากน้ำตาลผสมกัน หมักใส่ถังเติมน้ำไป 20 ลิตร เพื่อที่จะทำเป็นหัวเชื้อบริสุทธิ์ หมักทิ้งไว้ให้ครบ 7 วัน แล้วนำมาขยายต่อ 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร นำมารดเพิ่มความชื้นให้วัตถุดิบแทนการใช้น้ำเปล่า คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันโดยใช้เครื่องโม่ปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อคลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว กรอกใส่ถุง จะได้ประมาณ 3,500 ก้อน จากนั้นนำไปนึ่ง 1 หนึ่งเตาจะนึ่งได้ 1,200 ก้อน ใช้เวลานึ่งนาน 5.30-6 ชม.เป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นเห็ดทั่วไปใช้เวลานึ่งเพียง 5 ชม. ก็พอแล้ว หลังจากที่นึ่งเสร็จก็นำก้อนเชื้อไปบ่มในโรงบ่ม ใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 2.5 เดือน ในการบ่มก้อนเชื้อเพื่อให้เส้นใยเดินนั้นจะต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า 10.00 น.และ บ่าย 14.00 น. การให้น้ำในการบ่มก้อนนั้นจะให้น้ำโดนก้อนเชื้อไม่ได้ การรดน้ำจะรดเฉพาะผนังโรงเรือนกับพื้นโรงเรือนเท่านั้น เมื่อเส้นใยได้รับความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม การเดินของเส้นใยก็จะไม่สะดุด เมื่อเส้นใยเดินสุดก้อนแล้ว ก็สามารถนำเข้าโรงเรือนเปิดดอกได้ คุณอุ๊บอกว่าการที่เห็ดจะให้ดอกดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของก้อนเชื้อเป็นสำคัญ หากก้อนเชื้อเห็ดสะอาด มีอาหารเห็ดอยู่มากก้อนเชื้อนั้นก็จะให้ดอกขนาดใหญ่ ดอกคุณภาพดี ดอกดก เก็บดอกได้นาน ซึ่งที่นี่จะให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนของการผลิตก้อนเชื้อเพื่อให้คนที่ซื้อก้อนเชื้อไปเปิดดอกได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยก่อนที่ลูกฟาร์มจะนำก้อนเชื้อเห็ดไปเปิดดอกคุณอุ๊จะให้ลูกฟาร์มเข้ามาเรียนเทคนิคการให้น้ำ การดูแลก้อนเชื้อก่อน 1 วัน เพื่อที่ลูกฟาร์มจะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี
เห็ดโคนญี่ปุ่นนั้นตลาดถือว่ายังไปได้อีกไกล เพราะความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญในการผลิตก็คือการดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อให้ก้อนเชื้อให้ดอกที่มีคุณภาพ ได้ปริมาณดอกมาก เก็บดอกได้นานรวมถึงการเก็บรักษาคุณภาพของดอกเห็ดด้วย เพราะนั่นหมายถึงผลตอบแทนหรือรายได้ที่คุ้มค่านั่นเอง ดังนั้นผู้ที่จะเพาะเห็ดให้ประสบความสำเร็จจึงจำเป็นที่จะต้องมาศึกษาถึงเทคนิคในการเพาะเลี้ยงอย่างถูกวิธีจากเจ้าของฟาร์มก่อน คุณอุ๊กล่าวย้ำ
สนใจติดต่อ คุณวิไลรัตน์ มั่งคงสมบูรณ์ 54/5 ม.13 ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม โทร.086-681-2556,083-909-1986
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ