ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
เยี่ยมสวนมะกรูดบ้านสวนคุณปู่ ผลิตใบมะกรูดคุณภาพป้อนตลาดส่งออก
มะกรูด...ไม้นอกสายตาที่หลายคนอาจจะมองข้ามความสำคัญมาโดยตลอด นั่นเพราะช่วงที่ผ่านการปลูกมะกรูดเชิงการค้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแทบไม่มีให้เห็นบ่อยนัก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยมองมะกรูดไกลไปกว่าส่วนประกอบหลักของเครื่องต้มยำคู่ข่า ตะไคร้เลย คนที่ปลูกมะกรูดจึงจำกัดอยู่ในวงแคบเพราะคิดว่าตลาดแคบ หากเข้าไปสัมผัสจริงๆแล้วจะรู้ว่ามะกรูดเป็นพืชที่มีปริมาณการใช้มากทีเดียว นอกจากการบริโภคใบสดที่เราคุ้นเคยโดยเฉพาะ เมนูต้มยำที่ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและต่างชาติจนกลายเป็นเมนูระดับนานาชาติ ทำให้ความต้องการของชุดต้มยำซึ่งมีใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบหลักเพิ่มสูงมากขึ้น นอกจากนี้โรงงานแปรรูปต่างๆ ทั้งโรงงานผลิตน้ำพริก เครื่องแกง โรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย รวมถึงบริษัทส่งออกที่ต้องการใบมะกรูดสดเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศที่มีความต้องการใบมะกรูดปริมาณมาก จนทำให้เกษตรกรที่ปลูกมะกรูดในวันนี้สามารถสร้างรายได้ดีไม่แพ้พืชอื่นเลยทีเดียว
คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ หนึ่งในก๊วนชาวสวนมะกรูดรุ่นใหม่ที่ทำให้โฉมหน้าของมะกรูดจากพืชโบราณนอกสายตาสู่พืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งในวันนี้ และเป็นหนึ่งในกลุ่ม ชมรมผู้ปลูกมะกรูดตัดใบเพื่อการค้า ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ปลูกมะกรูดรุ่นใหม่ที่อยากเห็น รวมกลุ่มผู้ปลูกและผู้สนใจพืชชนิดนี้ให้เดินหน้าทั้งการผลิตและการตลาด ชมรมเสมือนเป็นเวที ให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มคนปลูกมะกรูดทั้งการผลิตและการตลาดพร้อมกับการช่วยกันทำตลาดเพื่อให้มะกรูดก้าวสู่พืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับกว้างขวางเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น ก็ขอเอาใจช่วยกับการทำงานในครั้งนี้ด้วยค่ะ
คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ เป็นชาวสวนรุ่นใหม่อีกคนที่สนใจอาชีพเกษตร ทั้งที่ชีวิตห่างไกลกับอาชีพนี้เหลือเกิน เพราะครอบครัวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรเลย อีกทั้งคุณศิวาวุธก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านเกษตรเลย เขาจบปริญญาตรีและโทด้านต่างประเทศและการปกครอง หลังจากทำงานฝ่ายต่างประเทศในบริษัทเอกชนไม่นานคุณศิวาวุธกลับพบว่าการทำงานในออฟฟิศไม่ใช่เส้นทางที่เขาอยากเดิน เขาอยากทำงานอิสระที่เป็นนายของตัวเอง เขาเริ่มหันมาสนใจอาชีพเกษตร และศึกษาอาชีพนี้ มองหาพืชที่น่าลงทุนในการปลูก พืชหลายชนิดเข้ามาในสมอง และพืชที่เขาเลือกก็คือ มะนาว คุณศิวาวุธจึงแสวงหาความรู้เรื่องมะนาวโดยเข้าอบรมกับ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งในครั้งนั้นมีเรื่องมะกรูดตัดใบด้วย เขาเห็นว่ามะกรูดเป็นพืชที่มีจุดเด่นหลายประการเมื่อเทียบกับมะนาว โดยเฉพาะ ปลูกง่าย การดูแลไม่มาก น่าจะเหมาะกับเกษตรกรมือใหม่อย่างเขามากกว่ามะนาว ในแง่ของการให้ผลผลิตก็เร็วกว่า ในด้านตลาดมะกรูดก็มีความต้องการสูงแต่ยังไม่มีการปลูกเชิงการค้าจริงจัง โอกาสด้านตลาดก็น่าจะมีมาก
หลังการอบรมคุณศิวาวุธก็ค่อนข้างมั่นใจกับพืชชนิดนี้ จึงซื้อกิ่งพันธุ์มาลงปลูกชุดแรก 3,600 กิ่ง (1 ไร่ ประมาณ 4,500 ต้น) ชุดนี้เขาลงทุนปลูกในโรงเรือนโดยหวังผลในการป้องกันแมลงเข้าไปทำลายมะกรูด โดยมะกรูดชุดแรกนี้ลงทุนสูงถึงกว่า 3 แสนบาทเลยทีเดียว หลังจากนั้นอีก 1.5 ปี เขาขยายปลูกเพิ่มอีก 15,000 ต้น ชุดนี้ปลูกกลางแจ้งทั้งหมด ซึ่งก็ช่วยประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก
การปลูกมะกรูดคุณศิวาวุธจะใช้ระยะชิดโดยใช้ระยะปลูก 50X50 ซม. ปลูกแบบสลับฟันปลา ซึ่งระยะนี้ถ้าปลูกเต็มพื้นที่จะได้ 4,500 ต้น/ไร่ แปลงปลูกจะยกร่องกว้าง 1 แมตร แล้วปลูก 2 แถวบนร่อง ที่ต้องยกร่องเพราะมะกรูดไม่ชอบน้ำขังและไม่ทนน้ำท่วม ส่วนของระบบน้ำใช้น้ำหยด โดยมีอัตราการจ่ายน้ำชั่วโมงละ 1.5 ลิตร แต่จะเปิดน้ำนานประมาณ 20-30 นาที และติดตั้งสปริงเกลอร์ไว้ด้านบนเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในช่วงที่อุณหภูมิสูง มาก
สำหรับการดูแลมะกรูดก็ไม่มีอะไรมาก ช่วงแรกต้องคอยระวังหนอนชอนใบ หนอนกัดยอดในช่วงใบอ่อน ปัญหาใหญ่ของมะกรูดก็คือเพลี้ยไฟ ไรแดงซึ่งมุ้งก็ไม่สามารถกันแมลงดังกล่าวได้ การจัดการโรค-แมลงจะเน้นใช้ชีวภัณฑ์ อย่างหนอนก็ใช้เชื้อบี.ที ส่วนเพลี้ยไฟ ไรแดงจะใช้เชื้อบิวเวอเรีย แต่ถ้าระบาดหนักจนคุมไม่อยู่หรือสร้างความเสียหายก็จะใช้สารเคมีมาสลับก่อน แล้วจึงกลับมาใช้ชีวภัณฑ์ต่อ ช่วงฝนเจอปัญหารากเน่าบ้าง ไม่มาก มีบางต้นที่ตายก็จะปลูกซ่อมไป
ในส่วนของปุ๋ยจะจ่ายปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด โดยผสมปุ๋ยใช้เองจากแม่ปุ๋ย 3 ตัว คือ 46-0-0,12-60-0 และ 0-0-60 สัดส่วนของปุ๋ยที่ใช้อยู่ที่ 5:1:4 ใช้สูตรนี้ตลอด โดยเพิ่มปริมาณขึ้นตามขนาดของต้น อย่างต้นเล็กจะให้อัตรา 3 กรัม/ต้น/อาทิตย์ ต้นโตก็จะให้ปุ๋ย 5 กรัม/ต้น/อาทิตย์ นอกจากนี้ก็จะให้น้ำขี้หมูเสริม โดยใช้อัตรา 100 ลิตร/ไร่/ครั้ง
คุณศิวาวุธบอกว่า การตัดแต่งกิ่งมะกรูดเพื่อจำหน่ายในครั้งแรกนับว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะจะมีผลอย่างมากต่อการให้ผลผลิตของใบในชุดต่อไป โดยปกติการตัดกิ่งขายในแต่ละครั้งจะตัดกิ่งให้สูงจากพื้นดินขึ้นมา 60-80 ซม. จากนั้นมะกรูดจะแตกกิ่งใหม่ขึ้นมา ช่วงนี้แหละสำคัญ ต้องเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่ทำมุมแคบกับลำต้น ซึ่งกิ่งลักษณะนี้จะเป็นกิ่งที่มีแนวโน้มที่จะให้ใบที่มีคุณภาพ นั่นคือ ใบมีขนาดใหญ่ และสวย ส่วนกิ่งที่ทำมุมองศากว้างจะมีแนวโน้มติดผลได้ จึงไม่ควรเลือกไว้ ส่วนกิ่งแขนงที่เหลือหลังจากคัดเลือกกิ่งคุณภาพแล้วตัดทิ้งให้หมด
มะกรูดหลังจากลงปลูกแล้วประมาณ 6-8 เดือนก็สามารถตัดกิ่งจำหน่ายได้ ตอนนี้มีต้นที่ตัดใบขายได้แล้วประมาณ 9,000 ต้น หรือประมาณ 110 ร่อง แต่คุณศิวาวุธจะทยอยตัดทุกวัน วันหนึ่งประมาณ 4 ร่อง ปริมาณการตัดต่อวันประมาณ 100-130 กก. คุณศิวาวุธบอกว่ามะกรูด 1 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 3-4 ขีด โดยหลังจากตัดใบขายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 45-50 วันจึงจะกลับมาตัดได้ใหม่อีกครั้ง ในรอบ 1 ปี จะตัดใบได้ประมาณ 7-8 ครั้ง โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
ในด้านการตลาดมะกรูดที่นี่เป็นที่ยอมรับว่าใบสวย คุณภาพดี คุณศิวาวุธใช้ประสบการณ์ด้านต่างประเทศมาเปิดตลาดใบมะกรูดในต่างประเทศเอง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีในหลายประเทศ โดยใบอบแห้งจะส่งญี่ปุ่น อเมริกา ใบแช่แข็งส่งออสเตรเลีย โดยผลผลิต 90% ป้อนตลาดต่างประเทศ อีก 10% ส่งเข้าโรงงานน้ำพริกและอบแห้งเป็นส่วนประกอบในเครื่องเทศต่างๆ โดยราคาใบมะกรูดอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/กก.
คุณศิวาวุธบอกว่ามะกรูด 1 ต้นจะตัดใบได้ต่อครั้งประมาณ 3-4 ขีด ถ้า 1 ไร่ 4,500 ต้น จะได้ประมาณ 1,300-1,500 กก.ต่อครั้ง ใบมะกรูดสวยๆสามารถสร้างรายได้มากถึง 4-5 หมื่นบาท/เดือนเลยทีเดียว ยิ่งใบมะกรูดที่ใบสวยยิ่งขายได้ราคาแพง 80-100 บาท/กก.เลยทีเดียว คุณศิวาวุธบอกว่า ตลาดซื้อ-ขายมะกรูดในบ้านเราจะนิยมแบบตัดเป็นกิ่ง มีทั้งกิ่งยาง กิ่งสั้น แต่ที่คุณศิวาวุธจะนิยมตัดกิ่งสั่น ความยาวของกิ่งประมาณ 1 คืบ หรือประมาณ 20 ซม. ราคาขายในช่วงทั่วไปก็จะอยู่ที่ 30-40 บาท/กก. ช่วงฝนใบมะกรูดจะมีราคาถูก ราคามะกรูดกิ่งก็จะอยู่ที่ 25-30 บาท แต่ช่วงนี้ใบมะกรูดราคาแพงเพราะอากาศหนาว มะกรูดไม่ค่อยแตกกิ่งใบ ราคาค่อนข้างแพง ราคาจากสวนตอนนี้ 40-50 บาท/กก. ตลาดขายส่งอย่างตลาดไท สี่มุมเมืองขายกันที่ 70-80 บาท/กก.
เห็นรายได้จากมะกรูดแล้วนับเป็นพืชอีกชนิดน่าสนใจทีเดียว คุณศิวาวุธจึงตั้งเป้าที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก และมีแผนที่จะขยายการปลูกโดยการส่งเสริมลูกไร่ปลูก ทำโรงแพ็คเอง ซึ่งการผลิตมะกรูดคุณภาพดีนี้จะทำควบคู่ไปกับการเปิดตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขยายตลาดมะกรูดของบ้านเราให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ตลาดมะกรูดของกลุ่มสมาชิกมีอนาคตที่สดใสและมีความยั่งยืนด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม คุณศิวาวุธ สงวนทรัพย์ 559 ถ.ราชมรรคา ต.สนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม 73000 Facebook สวนมะกรูดบ้านคุณปู่ โทร.09-00048097 ครับ
Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ