การอนุรักษ์ดินบนพื้นที่ลาดเท
คำถาม ที่ดินที่เป็นที่ลาดเท จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาและป้องกันการชะล้างพังทลายอย่างไรบ้างครับ ตอนนี้ที่ดินของผมพังทลายมาก ขอวิธีทำที่ชัดเจนหน่อยนะครับ
คำตอบ แนวทางการอนุรักษ์ดินบนพื้นที่ลาดเท ที่จะป้องกันหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ให้ถูกกัดเซาะพัดพาไปได้โดยง่าย จากบริเวณที่สูงชัน เหมาะสำหรับไร่นาขนาดเล็กบนพื้นที่สูง ส่วนใหญ่ที่ทำกัน มีดังนี้คือ คูรับน้ำรอบเขา คันดินตามแนวระดับ ขั้นบันไดดินปลูกไม้ผล หลุมปลูกไม้ผลสลับ และคันซากพืช
นักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาและป้องกันการชะล้างพังทลายที่มีความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ด้วย
คูรับน้ำรอบเขา เป็นการทำคูรับน้ำตามแนวระดับขวางความลาดเท เว้นช่วงเป็นระยะๆ ประมาณ 10-12 เมตร และมีความกว้างคูน้ำแบบผนังด้านนอกเอียงเข้า 2 เมตร ใช้สำหรับปลูกพืชไร่ ใช้ได้ในสภาพพื้นที่มีความลาดเทไม่เกิน 35% หากใช้ปลูกกาแฟ หรือไม้ผล ใช้ได้ในสภาพพื้นที่ลาดเทสูงถึง 50%
คันดินตามแนวระดับ ใช้กับพื้นที่ที่มีความลาดเทไม่เกิน 20% ความกว้างของฐานคันดิน และความสูงของคันดิน ขึ้นอยู่กับความลาดเทของพื้นที่ ชนิดของดิน และพืชที่ปลูกคันดินตามแนวระดับ
ขั้นบันไดดินปลูกไม้ผล เป็นการทำขั้นบันไดดินแบบไม่ต่อเนื่อง เพื่อปลูกไม้ผลบนพื้นที่ลาดชันสูงเกินกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ โดยจะปลูกไม้ผลบนขั้นบันไดดิน ส่วนพื้นที่ที่เว้นไว้จะต้องปลูกหญ้า หรือถั่วคลุมดินอย่างถาวร เพื่อป้องกันดินถูกกัดเซาะ และนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้ ขั้นบันไดดินปลูกไม้ผล ควรกว้างไม่เกิน 1.80 เมตร ดินควรลึกไม่ต่ำกว่า 1 เมตร และระยะห่างระหว่างขั้นบันไดดินตามแนวราบ เท่ากับความกว้างของพุ่มไม้เมื่อโตเต็มที่ เช่น 4, 6, 8 หรือ 10 เมตร เป็นต้น
หลุมปลูกไม้ผลสลับ ใช้วิธีการเช่นเดียวกับขั้นบันไดดินปลูกไม้ผล แต่ตัวขั้นบันไดดินไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัญหาแรงงานหรือมีหินโผล่ขวางกั้น โดยขุดบันไดดินช่วงสั้นๆ เฉพาะที่ จะขุดหลุมปลูกในแต่ละแถวสลับกันในลักษณะรูปสามเหลี่ยม เพื่อเก็บกักน้ำและชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่าบางส่วน ให้มีความยาวของขั้นบันไดดิน ประมาณ 2 เมตร และกว้างประมาณ 1.8-2.0 เมตร แล้วจึงขุดหลุมปลูกไม้ผลบนขั้นบันไดดิน นอกจากนั้น ทุกๆ 3-4 แถวขั้นบันไดดิน ควรมีคูระบายน้ำตามแนวระดับ จะเห็นได้ว่า การปลูกไม้ผลวิธีนี้ ช่วยประหยัดแรงงาน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นโคนต้นไม้ผลได้นาน และดูแลง่าย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปได้หากต้นไม้เจริญเติบโตพอ
คันซากพืช เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแบบหนึ่ง โดยนำซากพืชที่เกิดจากการบุกเบิกพื้นที่ หรือที่เหลือภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว มาวางสุมให้สูง 0.5-1.50 เมตร เป็นคันตามแนวระดับที่วางไว้เป็นระยะๆ ห่างกัน ประมาณ 20-40 เมตร หรือตามแนวคันดินกั้นน้ำ ซึ่งจะช่วยลดความเร็วของน้ำไหลบ่า และกักตะกอนดินบางส่วนได้ ซากพืชก็จะค่อยๆ เน่าเปื่อยผุพังกลายเป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ประโยชน์มากกว่าที่จะเผาซากพืชทิ้ง หรือเอาออกไปจากไร่นา แนวคันซากพืชนี้ ควรดำเนินการตอนทำการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ และไม่มีเวลาหรือทุนพอที่จะทำคันดินแบบอื่นๆ และในอนาคตสามารถเปลี่ยนคันซากพืชให้เป็นแนวคันดินได้
นอกจากนั้น เวลากำจัดวัชพืช ควรขุดพลิกดินเป็นแนวยาวแบบคูเป็นขนาดเล็กตอนล่างต่อเนื่องกันตามแนวระดับ แล้วทำการพลิกดินตอนบนที่มีวัชพืชลงไปในคู ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนทั่วทั้งแปลง ก็จะช่วยให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำดีขึ้นเหมาะแก่การเพาะปลูก ซากวัชพืชที่ถูกกลบ ก็จะเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวกลายเป็นปุ๋ยต่อไป
เกษตรกรส่วนใหญ่ ยังมีการใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับสมรรถนะของที่ดิน ทำการเพาะปลูกโดยขาดหลักการอนุรักษ์และบำรุงดินอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในที่ดอนและที่ที่มีความลาดเทมาก มีอัตราการชะล้างพังทลายของดินเกิดขึ้นสูง การชะล้างพังทลายของดินนี้ ก่อให้เกิดผลเสียหายหลายประการ ทั้งต่อเกษตรกร และเจ้าของที่ดิน คือผิวดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ในไร่นาสูญหายไปพร้อมกับปริมาณธาตุอาหารในดิน ทำให้ผลผลิตพืชลดต่ำลง ก่อให้เกิดปัญหาตามมานานัปการ…นะคะ
cr.dailynews