มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและอาศัยธรรมชาติเป็นสิ่งเกื้อกูลชีวิต มีความผูกพันกันมาตั้งแต่ที่มนุษย์ถือกำเนิด จากชีวิตที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาเป็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ถึงแม้มนุษย์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงมนุษย์อยากใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า เหมือนคำที่ว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว คนที่อยู่ในป่าคอนกรีตลึกๆ แล้วมักจะโหยหาป่าเขาลำเนาไพร รู้สึกว่าการมีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติมีความสุข
ในสภาพแวดล้อมของคนเมือง ที่อยู่ในออฟฟิศ มีโต๊ะทำงานเล็กๆ กับเขาตัวนึง ก็เอาพลูด่างมาใส่ภาชนะเซรามิกสวยๆ น่ารักๆ วาง หรือไม่ก็ต้นเงินไหลมา ถัดออกไปหน่อยพอมีที่ว่าง ก็วางกระถางต้นไม้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยอาจจะเป็น ลิ้นมังกร หนวดปลาหมึก โมก แก้ว แล้วแต่ชอบ ก็รู้สึกมีความสุขตามอัตภาพของคนเมืองใหญ่ที่ห่างไกลธรรมชาติ ถึงแม้อยู่ในตึกสูงๆ เวลาเครียดมองจากด้านในตึกผ่านหน้าต่างกระจกออกมากวาดสายตาให้กระทบต้นไม้เขียวๆ หน่อย ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย
ที่จริงคลองหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ชานเมืองกรุงเทพฯ ก็ยังมีพื้นที่สีเขียวมากมายให้เห็นกันอยู่ เมื่อศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC) มาอยู่ที่นี่ก็สร้างตึกสูงหลายชั้นเป็นสำนักงาน การใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบข้างก็ทำได้อย่างจำกัด ถึงพื้นที่มีจำกัด แต่ความคิดไม่ได้ถูกจำกัด จากความต้องการลดการปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเกิดแนวคิด NECTEC Go Green หรือ เพื่อเรา เพื่อโลก ประกอบด้วย 4 รักษ์ คือ รักษ์น้ำ รักษ์ต้นไม้ รักษ์พลังงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรสีเขียวอย่างยั่งยืน จนประสบความสําเร็จได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีซ้อน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่ The 2nd Runner up : ASEAN Energy Awards ปี 2011 รวมถึงรางวัลในโครงการ Thailand Energy Awards ในปี 2011-2013
จากความตระหนักและเล็งเห็นความสําคัญของโครงการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น จึงได้นําประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงร่วมกัน โดยสมาชิกของกลุ่มท่านหนึ่งเห็นว่า ควรเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวและทําให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน จึงได้เน้นไปที่ “รักษ์ต้นไม้” โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้อาคารด้วยการปลูกต้นไม้บนชั้นดาดฟ้าของอาคาร ต่อมาจึงเกิดคําถามว่า “เราจะปลูกอะไร? สําหรับพื้นที่บนดาดฟ้า หากจะลงทุน ลงแรงเหนื่อย ด้วยกันทั้งทีควรมีผลผลิตที่เกิดประโยชน์กับบุคลากร เป็นการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมและเกิดจิตสํานึกที่ดี เพื่อขยายผลไปสู่ครอบครัวและสังคมต่อไป จึงได้ผลสรุปออกมาเป็นโครงการสถานีผักที่เปิดรับสมัครสมาชิกผู้ที่มีความสนใจ มีใจรักในการปลูกผัก และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงร่วมกัน ปลูกพืชผักที่นํามาบริโภคและจําหน่ายได้ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้จัดตั้งกลุ่ม CoP : NECTEC Plant
โครงการดังกล่าว เน้นการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในเนคเทคผ่านกระบวนการเรียนรู้และนําไปปฏิบัติจริง จนสร้างให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน อาทิ การปราบศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ลดปริมาณขยะโดยนําเศษอาหารมาทําเป็นน้ำหมักชีวภาพ โดยพนักงานจะได้บริโภคผักสด สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในราคาที่เป็นธรรม กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะจนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นถูกถ่ายทอดและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงมีการต่อยอดเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้
จากพนักงานที่มารวมตัวกันก็เริ่มปลูกผัก สมาชิกทุกคนมีความกล้าที่จะลงมือปฏิบัติด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ลองก็ไม่รู้ จึงชวนกันลงมือปลูกผักต่างๆ แบบตามมีตามเกิด ค้นหาความรู้เท่าที่ทําได้ตามอินเตอร์เน็ตบ้าง สอบถามคนที่เคยมีประสบการณ์ปลูกผักในองค์กรบ้าง ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการปลูกผักมาก่อนของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงทําให้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาทางออก หรือแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่งอก ลําต้นหัก ใบไหม้ หรือเมื่อย้ายลงดินต้นก็เฉาตาย ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้และขาดประสบการณ์ในการปลูกผัก ดังนั้น จึงเสนอให้มีการออกไปศึกษาดูงานนอกสถานที่
เมื่อได้มีการเพิ่มพูนองค์ความรู้และเทคนิคการปลูกต่างๆมาแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ ประสบการณ์ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด ไม่มีใครที่รู้ได้โดยไม่ปฏิบัติ การลงมือทําถือเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Learning by doing) ที่เป็นการพัฒนาทักษะที่ดีที่สุด แต่กระนั้นหากจะเปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้การใช้แต่เพียงปลูกต้นไม้ลงดินและรดน้ำก็จะทําให้ต้นไม้เติบโตได้ไม่เต็มที่เพราะขาดปุ๋ย ดังนั้น หากจะปลูกต้นไม้กันแต่เพียงอย่างเดียว ก็ดูจะขาดความท้าทายการจัดการแข่งขันกันเล็กน้อยเป็นเสมือนการใส่ปุ๋ยช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้โครงการปลูกต้นไม้ประสบความสําเร็จและเจริญงอกงามอย่างยั่งยืน
การปลูกผักในครั้งต่อมานับว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนอย่างมาก ต้นผักเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ แม้จะมีส่วนที่เสียหายหรือตายไปบ้าง การที่ได้เห็นผักที่ตนเองปลูกตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หยอดเมล็ด จนถึงขั้นตอนการลงดินคอยรดน้ำและเฝ้ามองต้นผักเจริญเติบโตทีละเล็กทีละน้อย เป็นความรู้สึกที่ผูกพันอย่างมาก สมาชิกบางท่านยังเอ่ยถึงขั้นว่าไม่กล้ารับประทาน เพราะเหมือนปลูกมากับมือ ประโยชน์ผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาเพื่อรับประทานกันเองแล้วยังนําไปจําหน่ายในราคามิตรภาพ เพื่อให้เพื่อนพนักงานในเนคเทคได้รับประทานผักปลอดสารพิษที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายเครือข่ายสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการอีกทางหนึ่งด้วย โดยรายได้ทั้งหมดจากการจําหน่ายผลผลิต สมาชิกจะนําไปซื้อเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์ในการปลูกครั้งต่อไป และขยายพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้น ทําให้เกิดความต่อเนื่องในการดําเนินการ
โครงการสถานีผักถือว่าประสบความสําเร็จอย่างมาก เพราะได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมโครงการของพนักงานจํานวนมาก อีกทั้งผลิตผลเพื่อที่จะได้มีจํานวนมากเพียงพอกับการนําไปรับประทานเองและจัดจําหน่ายนํารายได้ไปซื้อเมล็ดผักเพื่อเพาะปลูกลงแปลงต่อไปแต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาไม่เพียงแต่แค่การขยายแปลงเท่านั้น ในระหว่างการปลูกผักนั้น ได้มีการกระจายข่าวสารกันไปหลากหลายช่องทาง อาทิ ผ่านการพูดคุยบอกต่อทางอินเตอร์เน็ต (Internet) โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์บริเวณอาคาร และเฟซบุ๊ก (Facebook) ทําให้ได้รับความใส่ใจดูแลจากเพื่อนพนักงานจํานวนมากเข้ามาช่วยดูแลแปลงผักสวนครัว บ้างก็ช่วยรดน้ำและพรวนดินให้กันและกัน ส่งผลให้จํานวนสมาชิกของกลุ่ม CoP : NECTEC Plant เพิ่มมากขึ้นไปพร้อมกับจำนวนแปลงปลูกที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากปริมาณแปลงปลูกผักที่ขยายเพิ่มขึ้นแล้ว ได้นําพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ไม่เคยปลูก มาทดลองปลูกอีกด้วย เพิ่มพูนให้เกิดองค์ความรู้มากขึ้นด้วย และจะมีการนัดหมายกับสมาชิกเพื่อทบทวนหลังการปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงการแบ่งปันเคล็ดลับและเทคนิคดีๆ ในการปลูกและดูแลแปลงผักในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ทําไม บางแปลงถึงเจริญงอกงามกว่าแปลงอื่นๆ ผู้ดูแลมีเทคนิคอย่างไร การรดน้ำใช้ปริมาณน้ำเท่าไหร่ หรือวิธีรดน้ำใช้วิธีใด หรือแม้กระทั่งการใส่ปุ๋ยช่วงเวลาต่างๆ เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทุกครั้ง จะมีการจัดทําสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติในแต่ละครั้งและบันทึกจัดเก็บองค์ความรู้ไว้ในระบบอินเตอร์เน็ตพร้อมจัดส่งให้กับสมาชิกของกลุ่มทุกคน สมาชิกได้นําความรู้และเทคนิคที่ได้จากการเรียนรู้ร่วมกันปลูกผักบนดาดฟ้าไปทดลองปฏิบัติทําแปลงผักสวนครัวที่บ้านของตนเองไว้รับประทานภายในครอบครัวรวมถึงแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านหรือในชุมชนของตนเองอีกด้วย
คุณจันทิมา จันทร์ศักดิ์ศรี (แนน) ตำแหน่งนักวิเคราะห์ หนึ่งในสมาชิก เป็นคนชื่นชอบการรับประทานผักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผักปลอดสารเคมี ซึ่งมักหาซื้อผักตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดสดทั่วไป แนนตั้งข้อสังเกตว่า “เราจะมั่นใจอย่างไร ว่าผักนี้ปลอดสารเคมีจริง” เมื่อทราบข่าวประชาสัมพันธ์โครงการสถานีผักบนดาดฟ้าของอาคารเนคเทค แนนคิดว่าน่าจะได้ความรู้นำมาปลูกผักรับประทานเองที่บ้าน เนื่องจากที่บ้านไม่มีพื้นที่สำหรับทำแปลงผัก แนนจึงชอบวิธีปลูกผักในกระถาง ซึ่งพบว่าถึงแม้ผักที่ปลูกจะไม่งามเหมือนที่ซื้อหามา แต่ทุกครั้งที่รับประทานจะมั่นใจเสมอว่าเป็นผักปลอดสารเคมีที่แท้จริง
ด้านคุณสุธน วงศ์สุชาต (แก้ว) วิศวกรของสถาบัน พักอาศัยอยู่บนอาคารสูงซึ่งมีพื้นที่จำกัด อยากจะปลูกต้นไม้อะไรก็ทำไม่ได้สักอย่าง เมื่อทราบข่าวว่ามีโครงการสถานีผัก จึงรีบสมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะถึงแม้จะเคยได้ยินการปลูกผักบนดาดฟ้า แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาว่ามีวิธีการปลูกอย่างไร เมื่อได้รับความรู้ จึงทดลองซื้อเมล็ดพันธุ์ “กระเจี๊ยบเขียว” ซึ่งเป็นผักที่แก้วชื่นชอบมาก มาทดลองปลูกที่บ้าน จากการเรียนรู้ของเขาตั้งแต่วิธีการเตรียมดิน ทำให้ต้นกระเจี๊ยบเขียวของแก้วเติบโตอย่างรวดเร็วและได้ผลผลิตจำนวนมาก เพียงพอที่จะรับประทานเองและแบ่งปันให้กับญาติมิตรและเพื่อนฝูงที่ทำงาน ปัจจุบัน แก้ว ได้ขยายพื้นที่เพื่อปลูกผักสลัด พริก และผักอื่นๆ อีกหลายชนิด แก้วบอกฝากไปกับผู้ที่สนใจ แต่ยังไม่ได้ลงมือปลูกว่า
“มันเป็นความสุขและภาคภูมิใจอย่างมากครับที่ได้เห็นการเติบโตในแต่ละวันของผักที่เราปลูกเองมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าไม่มีสารเคมีหรือสารพิษ เพราะผ่านมือเราตั้งแต่หยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว”
เมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่เพาะปลูกมีจํากัดจึงจําเป็นต้องมองหาวิธีการใหม่ๆ เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกผักแนวตั้ง การเพาะเห็ด เป็นต้น กลุ่ม CoP : NECTEC Plant ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะพัฒนาตนเอง เรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้งและเติบโตไปอย่างยั่งยืนกับองค์กรอย่างมีความสุข สอดคล้องกับแนวคิดโครงการ “Happy Station” เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านการพัฒนาองค์กร ในแผนปฏิบัติงานของเนคเทค
สอบถามข้อมูลได้ที่ คุณหฤทัย ศรีสุวงค์ งานพัฒนาบุคลากรและองค์กร (HROD) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เลขที่ 112 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ (02) 564-6900 โทรสาร (02) 564-6861
cr.matichon