‘สาคู’พืชเศรษฐกิจช่องทางรวยของภาคใต้
สาคู เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พบเห็นมากในพื้นที่เขตร้อนชื้น พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำสูง และต้องการปริมาณการตกของฝนสม่ำเสมอหรือค่อนข้างตกชุก ประมาณ 1,000-2,500 มิลลิเมตร ชอบความชุ่มชื้น แต่มีอากาศร้อนช่วงอุณหภูมิ ประมาณ 29-32 องศาเซลเซียส ขึ้นในที่ราบลุ่ม ชื้นแฉะ ริมแหล่งน้ำ บริเวณที่มีน้ำจืดขังตลอดปี หรือป่าพรุ สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมหรือน้ำแห้ง เป็นระยะค่อนข้างนานได้ดี ในประเทศไทยมีเพียงเฉพาะภาคใต้เท่านั้นตั้งแต่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรลงไป
ประโยชน์ของสาคู
สาคูจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคใต้ ส่วนต่าง ๆ ของสาคูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เช่น
1. ใช้ใบเย็บเป็นจาก สำหรับใช้มุงหลังคาและกั้นฝา เป็นจากที่มีความทนทานกว่าจากที่ทำจากใบปาล์มชนิดอื่น ๆ ซึ่งปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6-10 ปี และถ้านำไปแช่น้ำประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือนก่อนใช้งานจะใช้งานได้นาน 9-10 ปี
2. เนื้อในของส่วนลำต้น ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยตัดลำต้นให้เป็นท่อนสั้น ๆ ประมาณ 50 เซนติเมตร ให้สัตว์เลี้ยงแทะกินโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเป็ด และไก่ สับหรือขูดหรือบดให้ละเอียดนำไปผสมกับอาหารชนิดอื่น ก่อนนำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน
3. สามารถสกัดเอาแป้งจากส่วนของลำต้น โดยเลือกต้นที่กำลังออกดอก นำมาตัดแบ่งเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แช่น้ำเพื่อรักษาคุณภาพแป้งให้อยู่ในสภาพที่ดี จากนั้นถากเปลือกนอกออก เลือกเอาแต่ไส้ในของลำต้น นำไปบดแล้วผสมน้ำแยกแป้งออก โดยการกรองจากนั้นนำแป้งที่แยกได้ มาตากแดดให้แห้ง บรรจุใส่ถุงพลาสติก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
4. นอกจากนี้ยังมีการนำยอดอ่อนมาทำอาหาร ในช่วงเทศกาลที่สำคัญของชาวมุสลิมในภาคใต้จะนิยม เช่น งานแต่งงาน เมื่อต้นปาล์มสาคูตายก็จะพบแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งมาเจาะกินแกนในของลำต้นพร้อมวางไข่ เมื่อเป็นตัวอ่อน ก็สามารถนำไปรับประทานได้ซึ่งมีโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ โดยนำต้นสาคูมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ จากนั้นนำไปแช่น้ำ ให้ยางและกรดในลำต้นจางหายไป นำใบสาคูมาคลุมไว้ ตัวด้วงจะเข้ามาชอนไชเข้าไปวางไข่ ประมาณ 25 วัน ก็เจริญเติบโตเป็นตัวดักแด้ เรียกว่า “ด้วงสาคู” โดยแต่ละตัวจะมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอ่อน นำไปผัดเกลือรับประทาน จะมีรสชาติดีกว่าด้วงที่เกิดในต้นตาล หรือต้นลาน เพราะไม่มีกลิ่นสาบ นิ่มกว่า และมีรสมันมากกว่า ตัวอ่อนต้นหนึ่งจะให้ผลผลิต 2-4 กิโลกรัม ในพื้นที่ภาคใต้จะซื้อขายกันในราคาประมาณ 180-250 บาท ต่อกิโลกรัม
5. ส่วนผลนั้นใช้รับประทานได้ มีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อยนิยมใช้ประโยชน์เพื่อลดความดันโลหิตสูงและบรรเทาอาการเป็นโรคเบาหวาน นับเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของพื้นที่ภาคใต้ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน
ในปัจจุบันพบว่า กระบวนการผลิตแป้งสาคู มีอยู่ในจังหวัดตรัง ปัตตานี และนราธิวาส ที่ยังทำเป็นอาชีพหลัก บางพื้นที่ก็ใช้เปลือกนอกมาทำเชื้อเพลิง ทำไม้ปูพื้น หรือปูแทนเสื่อ สำหรับตากข้าว ตากหมาก หรือตากแป้งสาคู ก้านใบบางจังหวัดจะนำมาทำไม้กวาด ซึ่งก้านใบมีขนาดเล็กและยาวสามารถนำมามัดรวมกันทำเป็นไม้กวาดได้อย่างแข็งแรง
ที่มา - กลุ่มเกษตรพัฒนา,bloggang