ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ
กุ้งก้ามแดง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในนาข้าว ตลาดเติบโตมาก
กก.ละ 400-500 บาท...อาชีพพลิกฟื้นฐานะของชาวนาไทย
กุ้งก้ามแดง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กุ้งเครฟิช โดยเราจะคุ้นหูคำว่า กุ้งล็อปเตอร์ นั่นเอง นับเป็นกุ้งที่ถือเป็นอาหารรสเลิศที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี และมีการเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจกันในหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศผู้ส่งออกกุ้งชนิดนี้รายใหญ่ ก็คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย กุ้งเครฟิชหรือกุ้งล็อปเตอร์ นับเป็นกุ้งที่เชฟระดับโลกให้การยอมรับว่า เป็นกุ้งที่มีรสชาติอร่อย เลิศรสที่สุดในบรรดากุ้งแม่น้ำทั้งหมดจึงทำให้ร้านอาหารทั่วโลกมีเมนูกุ้งล็อปเตอร์ให้ทานกันทั่วโลกเลยทีเดียว
รู้จักกับกุ้งก้ามแดง...สัตว์เศรษฐกิจจากโครงการหลวงเพื่อเกษตรกรไทย
กุ้งก้ามแดงเป็นที่รู้จักทั่วโลกแต่กุ้งก้ามแดงในบ้านเรากลับไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากนัก นั่นอาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีการเลี้ยงที่ยังไม่มีการศึกษาและขยายการเลี้ยงเป็นอาชีพอย่างจริงจัง กุ้งชนิดนี้เป็นที่รู้จักบ้างในตลาดการเลี้ยงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่วันนี้กุ้งก้ามแดงกำลังได้รับความสนใจในฐานะสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าลงทุนอย่างมาก โดย สหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จ.สระแก้ว ซึ่งได้นำกุ้งก้ามแดงมาเลี้ยงในนาข้าวจนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเชิงการค้า โดยได้แนวคิดมาจาก โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่นำกุ้งชนิดนี้มาเลี้ยงเป็นคนแรกก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเล็งเห็นความต้องการของตลาด ทรงทดลองเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารและได้ให้ โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เป็นผู้ศึกษาทดลองเลี้ยง ผลผลิตรุ่นแรกที่ผลิตได้ถูกใช้ประกอบอาหารในการถวายเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะในวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว และได้ทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าวของเกษตรกรที่บ้านแม่กลางหลวง ดอยอินทนนท์ จนนำมาสู่การเลี้ยง และขยายพันธุ์กุ้งก้ามแดงเป็นเพื่อจำหน่ายเชิงการค้าได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา แต่การเลี้ยงก็ไม่ได้ขยายไปมากนัก
ต่อยอดจากโครงการหลวง สู่ การเลี้ยงเชิงการค้าในนาข้าว
ของสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง
ทั้งที่ๆ เรื่องของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงมีการเผยแพร่ออกมาหลายต่อหลายครั้งผ่านสื่อต่างๆ แต่ไม่เคยมีใครมองเห็นโอกาสและนำมาพัฒนาสู่การเลี้ยงเชิงการค้าอย่างจริงจังสักที คุณอำนาจ ยาสา ประธานสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง จำกัด จังหวัดสระแก้ว คือผู้ที่มองเห็นโอกาสในครั้งนี้ คุณอำนาจเล่าว่า สมาชิกของสหกรณ์กว่า 50 ราย มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ที่ผ่านมาอาชีพทำนาไม่เคยสร้างฐานะที่ดีขึ้นให้กับสมาชิกเลย บางปี บางรายก็ประสบปัญหาขาดทุนด้วยซ้ำไป คุณอำนาจมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในนาข้าวจากการที่มีโอกาสทราบข้อมูลการเลี้ยงในนาข้าวของโครงการหลวง จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง ไปดูวิธีการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ลูกกุ้งและนำมาทดลองเลี้ยงร่วมกับสมาชิกหน่วยกล้าตายจำนวน 20 ราย ในปี 2555 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปีนั้นสหกรณ์ขายกุ้งให้กับโรงแรมและร้านอาหารที่ทางสหกรณ์นำผลผลิตไปเสนอขายกว่า 14 ตัน ด้วยความที่ยังไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยทำตลาด ทำให้ขาดการวางแผนที่ดี กุ้งใหญ่ถูกขายไปทั้งหมดในคราวเดียวโดยไม่มีผลผลิตต่อเนื่องและเกิดภาวะการขาดแคลนลูกพันธุ์ที่จะนำมาเลี้ยงต่อ แต่สิ่งที่ได้รับในครั้งนี้ก็คือ รู้ว่าตลาดให้การตอบรับดีมาก ปี 56 จึงเริ่มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งเพื่อรองรับการเลี้ยงเพิ่มขึ้น จนมาปีนี้ 57 นอกจากสมาชิกสหกรณ์จะขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังหาพันธมิตรจากพื้นที่อื่นมาเสริมกำลังทัพด้วยเพื่อร่วมสร้างตลาดให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทำให้การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทย
การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในนาข้าว สร้างอนาคตของรายได้
สร้างความมั่นคงของอาชีพให้กับชาวนาไทย
คุณอำนาจให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของกุ้งก้ามแดงก็คือ เป็นกุ้งที่มีเปลือกหนา ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จึงเป็นกุ้งที่สามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปได้ แม้แต่ในนาข้าว ในบ่อดินหรือกระชังในแม่น้ำ โดยมีอัตราการสูญเสียหรืออัตราการตายน้อยมาก อัตราการรอดสูง เจริญเติบโตเร็ว ที่สำคัญสามารถขยายพันธุ์หรือเพาะลูกพันธุ์ได้โดยไม่ต้องใช้น้ำเค็ม จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้กุ้งก้ามแดงเลี้ยงได้ทุกพื้นที่ของบ้านเรา ซึ่งทางสหกรณ์เองจะเน้นการเลี้ยงในนาข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลักของสมาชิกอยู่แล้ว แต่การเลี้ยงต้องมีการมาปรับบ่อใหม่โดยอธิบายง่ายๆ พื้นที่ 1 ไร่ จะต้องยกคันล้มให้สูงขึ้นมากกว่าคันนาปกติที่จะเล็ก แคบและเตี้ย คันล้อมที่สูงนี้เพื่อขังน้ำที่สูงกว่าระดับน้ำในนาข้าวทั่วไปและป้องกันศัตรูธรรมชาติอย่าง ปู กบ ปลาช่อนที่จะเข้าไปกัดกินลูกกุ้งเล็ก โดยพื้นที่นา 1 ไร่ บริเวณรอบขอบบ่อ 1 ใน 3 ส่วนโดยรอบจะขุดให้ลึก 50-70 ซม.เพื่อเป็นที่อาศัยของกุ้งในช่วงกลางวันซึ่งกุ้งจะนอนพักในระดับน้ำที่ลึกลงไป ส่วนพื้นที่ตรงกลางบ่อ 2 ใน 3 ส่วน ระดับน้ำสูง 30 ซม.ซึ่งเป็นระดับน้ำในการทำนาปกติเพื่อที่ปลูกข้าวได้ตามปกติ พื้นที่ส่วนนี้กุ้งจะขึ้นมาอาศัยและหากินในช่วงกลางคืนตามซอกต้นข้าว
การปล่อยลูกกุ้งจะนิยมปล่อย 2 ขนาด คือ ขนาด 1 นิ้ว อัตราการปล่อย 5,000 ตัวต่อไร่ กับ ขนาด 3 นิ้ว อัตราการปล่อย 3,000 ตัว/ไร่ คุณอำนาจบอกว่า ลูกกุ้งขนาด 1 นิ้วจะเป็นขนาดที่ยังไม่ได้แยกเพศ ตัวมีขนาดเล็ก ราคาจำหน่ายตัวละ 6 บาท ส่วนขนาดใหญ่ 3 นิ้ว จะคัดเฉพาะเพศผู้มาเลี้ยงซึ่งจะทำให้ได้กุ้งไซด์ใหญ่ตามที่ตลาดต้องการในระยะเวลาเลี้ยงที่เท่ากัน คือ 4-4.5 เดือน ถ้าเลี้ยงจากกุ้งขนาด 1 นิ้วจะได้ 12-30 ตัว/กก. ถ้าเลี้ยงจากกุ้งขนาด 3 นิ้วจะได้ 7-15 ตัว/กก.
สำหรับอาหารจะใช้อาหารกุ้งกุลาดำเบอร์ 2,3,4 สำหรับลูกกุ้งขนาด 1 นิ้ว ขนาด 3 นิ้วใช้อาหารเบอร์ 3 และ 4 โดยเบอร์ 3 จะเริ่มให้หลังปล่อยเลี้ยง 1 เดือน เบอร์ 4 จะให้หลังปล่อยเลี้ยง 2.5 เดือน อาหารจะให้มื้อเดียวช่วง 6 โมงเย็น กุ้งจะมากินอาหารตอนกลางคืน อัตราการให้อาหารเริ่มต้นที่ 1 ขีด/มื้อ/1,000 ตัว และจะเพิ่มอาหารทุก 7 วัน มื้อละ 1-1.2 ขีดไปเรื่อยๆ จนจับขายหลังปล่อยลงเลี้ยง 4-4.5 วัน โดยมีอัตราการแลกเนื้อที่ 1: 1-1.2 กก.
ด้วยรูปแบบการเลี้ยงที่มีความสมดุลของธรรมชาติที่เกื้อกุลกัน ต้นข้าวที่ปลูกจะเป็นตัวบำบัดของเสียและแก๊สแอมโมเนียจากการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี ธรรมชาติที่สมดุลนี้ทำให้การเลี้ยงไม่ต้องปล่อยน้ำเลยตลอดการเลี้ยง ไม่เกิดน้ำเสีย ไม่เกิดโรคกับกุ้งที่เลี้ยง กุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีร่วมกับต้นข้าวที่สามารถให้ผลผลิตที่ดีเช่นกัน เมื่อครบกำหนดอายุการเลี้ยง ข้าวก็จะเกี่ยวได้พอดี คือ 120 วัน ก็จะปล่อยน้ำเพื่อจับกุ้งก่อน รอบ่อแห้ง 1-2 วัน จึงมาเกี่ยวข้าวต่อได้เลย ได้รายได้ 2 ต่อแต่ไม่เน้นผลผลิตจากจ้าวมากนัก หวังเพียงผลผลิตพอเพียงสำหรับกินเท่านั้นเพราะผลผลิตข้าวที่ได้จะต่ำกว่าข้าวที่ปลูกแบบปกติเพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือพ่นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อกุ้ง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ พักบ่อแล้วก็สามารถลงเลี้ยงกุ้งรุ่นใหม่ต่อได้เลยในบ่อเดิม
ต้นทุนการเลี้ยง 170-250 บาท/กก. ราคาขาย 400-600 บาท/กก.
ต้องบอกว่าเป็นกุ้งที่มีราคาแพงมากทีเดียว โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 400-600 บาท/กก. ที่ปากบ่อ โดยทางสหกรณ์จะรับซื้อกุ้งจากสมาชิก 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก 20-25 ตัว/กก.ราคาปากบ่อ 400 บาท ราคากุ้งไซด์ใหญ่ 7-15 ตัว/กก. ราคา 500 บาท/กก. ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทางสหกรณ์ได้บุกเบิกตลาดและแนะนำกุ้งก้ามแดงเข้าสู่ตลาดจนเป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง ปัจจุบันมีตลาดรองรับทั้งโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ภัตตาคารหลายแห่ง รวมทั้งห้างแมคโคร ซึ่งคุณอำนาจมองว่ากุ้งก้ามแดงมีโอกาสที่จะขยายศักยภาพทางการตลาดได้อีกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รู้จักกุ้งชนิดนี้เป็นอย่างดี เช่น พัทยา ภูเก็ต หัวหิน กระบี่ เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ทางสหกรณ์ไปเปิดตลาดหลายแห่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอกับความต้องการจึงมีการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างบอก
สำหรับต้นทุนการเลี้ยงนั้นคุณอำนาจบอกว่า ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 170-250 บาท/กก. โดยเป็นต้นทุนค่าพันธุ์ 70% ค่าอาหาร 30% ซึ่งต่างจากการเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นที่ต้นทุนจะหนักที่ค่าอาหาร ดังนั้นหากสามารถเพาะพันธุ์เพิ่มจำนวนลูกพันธุ์ได้เองก็จะประหยัดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้มาก ซึ่งทางสหกรณ์จะมีการสอนเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มคนเลี้ยงลูกพันธุ์เองเพื่อประหยัดต้นทุน โดยมีผลผลิตกุ้งต่อไร่ 200-400 กก.ขึ้นอยู่กับลูกพันธุ์ที่ปล่อยเลี้ยง ถ้าลูกพันธุ์ตัวใหญ่ก็จะได้กุ้งไซด์ใหญ่ ปริมาณผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงและรายได้ต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วย
วันนี้ตลาดมีความต้องการสูงจนต้องการขยายการผลิตเพิ่ม
สร้างพันธมิตรสู่เกษตรกรทั่วประเทศให้มาร่วมทาง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของตลาด
หลังจากมองว่าอาชีพการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงจะกลายเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทยได้ ทางสหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรงจึงได้จัดอบรมการเลี้ยงก้ามแดงขึ้นครั้งแรกในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ที่ สหกรณ์เขื่อนพระปรง จ.สระแก้ว ขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะชาวนาได้มีโอกาสสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าการทำนา โดยหวังสร้างเครือข่ายแต่ละจังหวัดได้มากำหนดแนวทางการผลิตและการตลาดร่วมกัน ใครสนใจเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ก็สำรองที่นั่งได้นะคะ เพราะงานนี้รับความรู้แบบเต็มๆ 2 วันเลย เรียนรู้ในพื้นที่จริง กับ คนที่ประสบสำเร็จในการเลี้ยงแล้วทั้งจากสหกรณ์เอง และจากสมาชิกผู้เลี้ยงจากจังหวัดอื่น ซึ่งอนาคตจะมีการอบรมการเลี้ยงขึ้นทุกเดือนค่ะ หรือจะไปชิมลางก่อนก็ได้ที่งานมหกรรมในหลวงรักเรา 3-7 ธ.ค. นี้ ที่ พิพิธภัณฑ์การเกษตร นวนคร ก่อนก็ได้ค่ะ นอกจากการเลี้ยงในนาข้าวแล้ว ทางกลุ่มยังได้พัฒนาการเลี้ยงในบ่อปูน การเลี้ยงในบ่อพลาสติกและการเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำอีกด้วย บอกได้คำเดียวว่า น่าสนใจมากๆ และกุ้งก้ามแดงจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของคนไทยอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยความน่าสนใจอย่างที่บอก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ คุณอำนาจ ยาสา สหกรณ์การเกษตรเขื่อนพระปรง 170 ม.6 ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โทร.0800715170
cr. กลุ่มเกษตรก้าวใหม่ by Rakkaset Nungruethail (คุณหนึ่ง) บรรณาธิการ หนังสือรักษ์เกษตร http://ouo.io/FG92G
ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ