วิสาหกิจชุมชน พังกาลอดฟาร์ม...พลิกฟื้นชาวสวนยาง
ด้วยธุรกิจนกกระทาครบวงจร กำลังผลิต 80,000 ตัว/เดือน
หากพูดถึงภาคใต้เชื่อว่าเราไม่เคยคิดไกลไปกว่าปาล์ม ยาง ที่ครองพื้นที่และอยู่ในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้มายาวนาน สืบทอดอาชีพกันจากรุ่นสู่รุ่น และดูเหมือนว่าชาวภาคใต้เองก็ไม่อยากเดินออกนอกเส้นทางที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตเดิมสักเท่าไหร่ พืชใหม่ๆกลายเป็นสิ่งแปลกตาของชาวบ้านเสมอ แต่วันนี้มีอีกคนที่กล้าเดินออกนอกเส้นทางเดิมด้วยอาชีพที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคยหรือแทบนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเดินไปยังไง เมื่อนักคิดรุ่นใหม่อย่าง คุณสุเมธ มามาตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ ออกมาบอกกับชาวบ้านว่า “เราจะเลี้ยงนกกระทา” เพื่อพลิกฟื้นรายได้จากการทำสวนปาล์มและสวนยางพาราที่อาจจะไม่สามารถพึงพารายได้ในอนาคตได้ แน่นอนว่า สิ่งแปลกใหม่ ห่างจากวิถีชีวิตอย่าง การเลี้ยงนกกระทา แทบจะไม่มีใครเดินร่วมทาง
จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงนกกระทาเพื่อสร้างรายได้ทดแทนพืชเดิม
คุณสุเมธ ที่ปรึกษากลุ่มฯ เล่าว่า หลังจากที่เห็นสถานการณ์ราคาที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและเป็นเรื่องยากที่จะหวังพึ่งรายได้จากสวนปาล์ม สวนยางเหมือนในอดีต คุณสุเมธบอกว่า เขามองไม่เห็นอนาคตของพืชสองตัวนี้ จึงเริ่มศึกษาเพื่อหาอาชีพเกษตรใหม่ๆ ที่จะเข้าทดแทนพืชเดิมที่ปลูกกันอยู่ เป็นโจทย์ที่ยากทีเดียวเพราะตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ชาวบ้านแทบไม่คุ้นเคยกับพืชอื่นเลย คุณสุเมธเริ่มต้นที่การเลี้ยงไก่ เพราะมองว่า การเลี้ยงไก่ใช้พื้นที่ไม่มาก ใช้เวลาไม่นาน ขยายพันธุ์ง่าย เริ่มต้นจากไก่ 600 ตัว พร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ครั้งแรก 6 คน เลี้ยงอยู่เกือบ 2 ปี ก็สู้ต้นทุนค่าอาหารไม่ไหว เมื่อการเลี้ยงไก่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด โจทย์ใหม่จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต้องคิดต่อยอดจากธุรกิจเดิมเพื่อใช้อุปกรณ์ต่างๆที่ลงทุนไปกับการเลี้ยงไก่ไม่ให้สูญเปล่า และนกกระทาคือคำตอบที่ดีที่สุดในวันนั้น
เมื่อได้คำตอบคุณสุเมธเดินหน้าศึกษาการเลี้ยงนกกระทาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งอินเตอร์เน็ต หนังสือ ไปจนถึงการดูฟาร์มเลี้ยงจริงในหลายพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลรอบด้านและสร้างความมั่นใจก่อนลงมือจริง เริ่มจากนกกระทา 35 ตัว และขยายปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามความสำเร็จพร้อมๆสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ความสำเร็จเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึงปี สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 21 คน พร้อมกับการก่อตั้ง วิสาหกิจชุมชน พังกาลอดฟาร์ม ขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการขยายการผลิตและการตลาด คุณสุเมธ บอกว่า พังกาลอด เป็นชื่อซอยติดทะเลที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ของเกาะลันตา สมาชิกทั้งหมดอยู่ในซอยพังกาลอดแห่งนี้
สร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทำให้ความสำเร็จเดินหน้าอย่างรวดเร็ว
จากความผิดพลาดของการเลี้ยงไก่ การเดินหน้าครั้งใหม่คุณสุเมธสร้างพันธมิตรจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมมือด้านต่างๆอย่างครบวงจร ซึ่งส่วนนี้เองกลายเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ คุณสุเมธบอกว่าสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการเลี้ยงก็คือ ความไม่เข้าใจนิสัยของนกกระทาอย่างแท้จริง จึงทำให้อัตราการตายสูง และเพื่อต้องการให้การเลี้ยงนกกระทาเป็นอาชีพที่ง่ายสำหรับคนเลี้ยง ซึ่งก่อนจะเลี้ยงคุณสุเมธก็ไปศึกษาดูงานมาทุกที่ที่เป็นแหล่งเลี้ยงนกกระทาที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น อ่างทอง สระบุรี สิงห์บุรี อยุธยา โคราช เพื่อเติมเต็มความรู้และนำมาสู่การพัฒนาการเลี้ยงให้ประสบความสำเร็จโดยคุณสุเมธใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมของตัวเอง ซึ่งมีดีกรีถึงปริญญาตรีวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ จากราชมงคลธัญบุรี ปริญญาโท คอมพิวเตอร์ จาก ม.นเรศวร และปริญญาเอก วิศวกรรมไฟฟ้า จาก ม.มหาสารคาม มาสร้างเครื่องควบคุมการเลี้ยงนกกระทาแบบอัตโนมัติ โดยตัวควบคุมนี้จะเป็นตัวเช็คความผิดปกติของสภาพการเลี้ยงให้คนเลี้ยงได้รู้ โดยเช็คอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซแอมโมเนีย ปริมาณก๊าซออกซิเจน ทำให้คนเลี้ยงสามารถทราบปัญหาและความต้องการของนกได้และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที จึงทำให้มีอัตราการสูญเสียน้อย เป็นต้นว่า ถ้าอุณหภูมิสูง นกจะลงไปเล่นน้ำจนตาย หรือถ้าอุณหภูมิต่ำนกก็จะไปอยู่ใต้หลอดไฟจนตายเหมือนกัน แต่ตัวควบคุมตัวนี้จะเตือนให้คนเลี้ยงทราบทั้งหมดว่าภายในกรงเลี้ยงเกิดภาวะที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นและสามารถแก้ปัญหาได้ทัน
นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับ กรมปศุสัตว์ จ.กระบี่ ซึ่งเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำ ปรึกษาร่วมกับสมาชิก จนทำให้ที่นี่กลายเป็นฟาร์มเครือข่ายการเลี้ยงนกกระทา ของ กรมปศุสัตว์ ที่เป็นที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรที่สนใจจากพื้นที่ต่างๆ การฟักไข่ ก็ได้มหาวิทยาลัยราชมงคล ตรัง เป็นผู้ให้คำแนะนำในการสร้างตุ้ฟักไข่อัตโนมัติที่ควบคุมสภาวะต่างๆทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้การฟักมีอัตราการเกิดลูกเจี๊ยบสูง อัตราการตายต่ำ โดยตู้ฟักไข่ทั้งหมด 3 ตู้ ฟักได้ครั้งละ 15,000 ฟอง/ตู้ จึงทำให้มีลูกนกเพียงพอต่อการเลี้ยงของสมาชิก และในอนาคตอันใกล้นี้กลุ่มยังเตรียมพัฒนาไปสู่การทำโรงผสมอาหารของตัวเองเพื่อลดต้นทุนอีกด้วย
ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความร่วมมือจาก คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชมงคล ตรัง เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ด้วยความร่วมมือจากทุกส่วนจึงทำให้การเลี้ยงนกกระทาของกลุ่มเติบโตและขยายตัวแบบก้าวกระโดดเพราะไม่ต้องลองผิดลองถูกแต่มีพี่เลี้ยงระดับมืออาชีพมาเป็นคนส่งให้ไปถึงเส้นชัย นี่คือแนวคิดที่อยากให้ทุกคนได้มองเป็นแนวทางที่จะไต่ไปสู่ความสำเร็จค่ะ
กำลังการผลิตนก 80,000 ตัว/เดือน จากสมาชิกที่เลี้ยงเพียง 4 ราย
นกกระทาเลี้ยงง่าย ทำเงินเร็ว เพียง 35 วัน จับขายได้เลย
นกกระทาที่นี่จะเลี้ยงในโรงเรือนเลี้ยงไก่เดิมที่ถูกดัดแปลงมาเลี้ยงนกกระทา ตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 โรงเรือน กระจายการเลี้ยงอยู่ 4 สาย วางแผนการเลี้ยงสัปดาห์ละ 20,000 ตัว หรือเดือนละ 80,000 ตัว เพื่อขายเป็นนกเนื้อ โดยนกกระทาจะถูกแยกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวเมียส่วนหนึ่งจะถูกนำขึ้นกรงเพื่อให้ไข่และเก็บไข่ขาย อีกส่วนขายให้ลูกค้า ส่วนตัวผู้จะเชือดเป็นนกกระทาหันภายใต้แฟรนไชส์ นกกระทาหัน ลันตา ที่ตอนนี้มีจุดจำหน่ายอยู่ 4 จุดในเกาะลันตา โดยมีปริมาณการจำหน่ายจุดละ 2,000 ตัว/สัปดาห์ โดยทางกลุ่มจะจำหน่ายนกหมักเครื่องเทศพร้อมนำไปหันได้เลยในราคาตัวละ 19 บาท นกหันจะขายปลีกในราคาตัวละ 35 บาท โดยลูกค้าสามารถซื้อในปริมาณมากแล้วนำไปแช่ตู้แช่แข็งได้นานนับเดือนเลยทีเดียว
คุณสุเมธกล่าวถึงการเลี้ยงและผลตอบแทนที่น่าสนใจของนกกระทาว่า ถ้าเริ่มจากไข่นกกระทา ไข่จะอยู่ในตู้ฟัก 13 วัน เมื่อฟักเป็นตัวจะย้ายมาอยู่ในตู้เกิด 4 วัน จากนั้นจึงจะนำไปเลี้ยงในกรงเลี้ยง ซึ่งขนาดกรงเลี้ยงของที่นี่จะมีขนาด 4x10 เมตร หรือ 40 ตารางเมตร จะสามารถเลี้ยงได้ 4-5 พันตัว หลังจากนำเข้ากรงเลี้ยงได้ 25 วัน ก็จะจับแยกเพศผู้และเพศเมีย เพศเมียจะถูกแยกไปขึ้นกรงเพื่อเลี้ยงเก็บไข่ โดยนกจะเริ่มไข่เมื่ออายุการเลี้ยง 35 วัน หรือหลังจากจับขึ้นกรงไข่ 10 วัน ตัวเมียจะมีอัตราการไข่ 75-90 % ขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้ ซึ่งที่นี่จะมีกำลังการผลิตไข่อยู่ที่ 1 แสนฟอง/สัปดาห์ ส่วนเพศผู้จะถูกแยกไปเลี้ยงเพื่อเป็นนกขุนหรือนกเนื้อ โดยจะเลี้ยงต่อไปอีก 10-15 วัน หรืออายุการเลี้ยง 35-40 วันก็จะสามารถจับเชือดได้แล้ว ซึ่งจะได้นกขนาด 8 ตัว/กก. คุณสุเมธบอกว่าต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ตัวที่ 7-8 บาท แต่สามารถขายได้ที่ตัวละ 19 บาท โดยมีต้นทุนค่าเชือดจนถึงแพ็คอยู่ 3 บาท โดยที่กลุ่มจะมีนกจากสมาชิกเข้ามาเชือดทุกวันๆละ 1,000 กว่าตัว
หลากหลายผลิตภัณฑ์ต่อยอดธุรกิจการเลี้ยงอย่างครบวงจร
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงนกกระทา พังกาลอดเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วก็คือ การพัฒนาสินค้าให้สามารถเข้าไปตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเลี้ยงนกกระทาของชาวบ้านทั่วไปจะสิ้นสุดที่การขายนกเนื้อหรือนกเชือด แต่ที่นี่ต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปจนถึงผู้บริโภค ด้วยสินค้าที่หลากหลายตั้งแต่ นกกระทาแช่แข็ง นกหมักเครื่องเทศที่พร้อมนำไปประกอบอาหารได้ง่าย จะนำไปปิ้ง ย่างหรืออบก็ได้ นกกระทาย่าง นกอบรมควันพร้อมทาน ไข่ต้มปอก ไข่หวานน้ำขิง นอกจากนี้ยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถซื้อเป็นของฝากสำหรับคนไกลได้อีกด้วย และด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สินค้าของกลุ่มนอกจากจะวางจำหน่ายในตลาดทั่วไปแล้ว ยังวางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย การันตีคุณภาพด้วย รางวัล โอทอป ของจังหวัดกระบี่อีกด้วย เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
กลางปีหน้าคุณสุเมธบอกว่า จะมีนกกระทาพันธุ์ใหม่ที่นำไข่เข้ามาจากออสเตรเลีย เป็นนกเนื้อที่ตัวใหญ่ เนื้อเยอะ ซึ่งคุณสุเมธมองว่านอกจากผลิตภัณฑ์เดิมแล้วจะนกกระทาพันธุ์ใหม่นี้จะพัฒนาไปเป็นสเต็กนกกระทาได้ ซึ่งตอนนี้มีแม่พันธุ์อยู่ 1,000 กว่าตัวแล้ว ซึ่งสามารถผลิตไข่ได้ปริมาณมากพอที่จะขยายการเลี้ยงได้ การพัฒนาและการเรียนรู้ต่อยอดที่ไม่หยุดนิ่งของกลุ่ม กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ธุรกิจการเลี้ยงนกกระทาเติบโตจนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของภาคใต้ที่กำลังขยายตัวทีเดียว
ใครที่สนใจวิธีการเลี้ยงหรือรายละเอียดอื่นๆ ติดต่อที่ สุเมธ มามาตย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พังกาลอดฟาร์ม 30 ม.3 ต.คลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 08-6682-5775
cr. กลุ่มเกษตรก้าวใหม่ by Rakkaset Nungruethail (คุณหนึ่ง) บรรณาธิการ หนังสือรักษ์เกษตรมีจำหน่ายที่ห้างชั้นนำทั่วไป