เยี่ยมไร่เมล่อนกำแพงแสน ดูเทคนิคการผลิตเมล่อนให้หวานอร่อย
สำหรับตลาดเมล่อนในเมืองไทยแม้ว่าจะยังไม่กว้างขวางนัก และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเป็นผลมาจากยังไม่มีขายและหากินได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ประกอบกับราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งเกษตรกรที่ปลูกในเมืองไทยก็ยังมีไม่มากนักด้วยเหตุที่ว่าเลม่อนเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ การปลูก การขยายพันธุ์ในประเทศยังคงเป็นกลุ่มเล็กๆ เช่น คุณมิตร และภรรยา เล่าให้ฟังถึงอาชีพการปลูกเมล่อนให้ฟังว่า ก่อนที่ตนและครอบครัวจะมาปลูกเมล่อนอย่างจริงจัง ตนทำอาชีพเพาะเห็ดอยู่ก่อน โดยครั้งแรกที่ปลูกได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน และเห็นว่าเป็นพืชใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครปลูกจึงทดลองปลูกและส่งผลผลิตไปให้บริษัทฯ ในตอนนั้นก็ขายได้ราคาต่อกิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 20 บาท ก็พออยู่ได้ จากนั้นก็ปลูกมาเรื่อยๆ ได้ประมาณ 3 ปี ก็ต้องประสบปัญหากับโรคแมลงระบาดสร้างความเสียหายไปมาก จึงได้เกิดการท้อแท้ ประกอบกับเงินทุนน้อยจึงได้หยุดปลูกไป และหันมาเพาะเห็ดนาฟ้าขายเพียงอย่างเดียว
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่หันมาปลูกเมล่อนตนก็เพาะเห็ดควบคู่มาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่หลังจากหยุดไปได้สักพักเก็บรวบรวมเงินได้ก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้ตั้งใจที่จะทำจริงจังโดยการกลับมาอีกครั้ง มีความตั้งใจว่าจะทำอาชีพนี้ให้ประสบความสำเร็จให้ได้
การกลับมาอีกครั้งของครอบครัวคุณมิตร ในครั้งนี้ก็เป็นไปอย่างที่คิด การปลูกเมล่อนเริ่มต้นเป็นการปลูกเมล่อนที่มีการเตรียมพร้อมทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ที่จะทำให้ผลผลิตเมล่อนคุณภาพ ซึ่งการปลูกเมล่อนของคุณมิตรเริ่มต้นจากมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน เป็นการส่งให้กับบริษัทฯ ที่เข้ามาทำคอนแทรคและรับซื้อในราคาที่น่าพอใจ โดยการปลูกเน้นเป็นการปลูกนอกโรงเรือนเช่นเดียวกับในครั้งก่อนที่ปลูกในพื้นที่หมุนเวียนครั้งละประมาณ 3-4 ไร่ๆ ละ 4,000 ต้น ต่อรบการผลิต
ขั้นตอนการปลูกเริ่มจากการเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดจะใช้วิธีการเพาะแห้งโดยไม่ผ่านการบ่ม ที่เลือกวิธีนี้เพราะว่าจะช่วยลดการควบคุมเรื่องของเวลาในการปลูกได้ดีกว่า การบ่ม เพราะถ้าผ่านการบ่มแล้วถ้าปลูกไม่ทันจะเกิดความเสียหายต่อเมล็ดพันธุ์ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเร็วที่สุด หลังจากเพาะเมล็ดได้ประมาณ 12 วัน ก็นำกล้าเมล่อนลงปลูกในแปลงได้เลย แปลงปลูกจะยกร่องและปลูกต้นกล้าให้มีระยะห่าง 40x40 เซนติเมตร ร่องหนึ่งมีสองแถว เว้นร่องทางเดินกว้าง 1 เมตร 20 เซนติเมตร
ทั้งนี้การปลูกเมล่อนจะใช้ ระบบน้ำหยด เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการแปลงปลูกในการให้น้ำและปุ๋ยยาฆ่าแมลง โดยหลังจากนำต้นกล้าลงแลงได้ประมาณ 3 วัน พอต้นเริ่มฟื้นก็ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ปล่อยไปกับสายน้ำหยด วันละ 5 กิโลกรัม/น้ำ 50 ลิตร ต่อ 8,000 ต้น วันละ 10 นาที แล้วให้น้ำต่อไปอีกประมาณ 10-13 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแขวนลูก ประมาณ 50 วัน พอแขวนลูกแล้วก็เปลี่ยนมาให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 และ 14-14-21 ในอัตรา 5 กิโลกรัม ใช้เวลาแค่ 10 นาที และเดินน้ำต่อเท่ากับในช่วงแรก
ในส่วนของการบริหารการจัดการโรค แมลง จะฉีด พ่นทุก 4 วัน ตั้งตานำต้นกล้าลงปลูกในแปลงและตั้งตัวได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียหาย โดยยาที่ฉีดเป็นยาฆ่าแมลง และยาฆ่าเชื้อราที่ฉีดไปพร้อมกัน จนถึงเด็ดยอดเพื่อรอการเก็บเกี่ยวก็หยุดฉีด สำหรับพื้นที่ในบริเวณนี้ศัตรูพืชจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตและกำจัดยาก มากกว่าโรค โดยเฉพาะเพลี้ยไฟกับแมลงหวี่ขาว โดยเพลี้ยไฟจะระบาดในช่วงหน้าแล้ง แมลงหวี่ขาวจะระบาดช่วงหน้าฝน
คุณมิตร บอกอีกว่าเรื่องการวางแผนปลูกถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลิตเมล่อนให้มีการขายตลอดรอบ การผลิต โดยของตนนั้นจะวางแผนการผลิต โดยของตนนั้นจะวางแผนการผลิตใน 1 รอบ ห่างกันประมาณ 1 อาทิตย์ โดยปีหนึ่งๆ จะหยุดปลูกเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เพราะเป็นช่วงหน้าฝนจะควบคุมผลผลิตได้ดีและไม่เป็นโรคแมลงได้ยากทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง และเสี่ยงที่จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งนี้รุ่นที่ปลูกและออกผลผลิตในช่วงเดือนมกราคาถึงเมษายน จะเป็นช่วงที่ผลผลิตดีและราคาดีที่สุด
ปัจจุบันไร่ของตนจะปลูกส่งให้กับบริษัท มหาเกษตร จำกัด เป็นพันธุ์ KT 51 เนื้อเขียว ซึ่งเป็นเนื้อที่นุ่ม รสชาติหวานอร่อยเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนความหวานที่ผลิตได้จะอยู่ที่ 14 บริกซ์ ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 40 บาท ขายในราคานี้เป็นเวลาถึง 4 ปีแล้ว ขนาดเมล่อนเกรดเอ คือขนาด 1.2-2.5 กิโลกรัม ถ้าขนาดเกิน 2 กิโลกรัม ขึ้นไปจะจัดว่าตกเกรดโดยเมล่อนที่ตกเกรดตนจะขายให้แม่ค้าทั่วไปที่มารับซื้อไปขายข้างทาง ขนาดที่ส่งจะมีตั้งแต่ 1 กิโลกรัม/ลูก เป็นขนาดเล็กขายในกิโลกรัมละ 20 บาท และลูกใหญ่เกิน 2 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 35 บาท ซึ่งต้องบอกว่าเมล่อนตกเกรดนั้นขายได้ราคาที่มีกำไรสูงกว่าการขายเกรดเอ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลของจะขายดีจนแทบไม่มีของขาย
“จาก ประสบการณ์กว่า 9 ปีในการปลูกเมล่อนของผมมองว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้จริงๆ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จได้ก็คงจะเป็นเรื่องความเข้าใจ พืชชนิดนี้จริงๆ รวมถึงการบริหารจัดการ การให้น้ำ ปุ๋ย และป้องกันกำจัดโรคแมลงได้อย่างทันท่วงที
เกษตรกรจะหมั่นตรวจแปลงและเป็นคนช่างสั่งเกตุ สุดท้ายการเลือกสายพันธุ์เมล่อนที่ตลาดต้องการจะเป็นใบเปิดทางให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล่อนให้เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ขายได้ราคาจากคุณภาพเมล่อนที่มาจากการใส่ใจในการผลิตของตัวเกษตรกรเอง”
จากประสบการณ์การทำเมล่อนของคุณมิตรเกิบ 10 ปี คงต้องบอกว่า คุณมิตรน่าจะเป็นเกษตรกรอีกท่านหนึ่งในวงการเมล่อนที่มากด้วยประสบการณ์ก็ว่าได้ สำหรับเกษตรกรท่านใดที่อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อคุณมิตร ชัดเจนจิต ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 08-9805-1397, 09-0789-9134