เห็ดโต่งฝน
เห็ดโต่งฝน เห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่จากประเทศเพื่อนบ้าน
ไปเยือนดินแดนอีสานคราก่อนได้มีโอกาสเดินสำรวจตลาดในพื้นที่อำเภอจตุจักร จังหวัดชัยภูมิ เจอแม่ค้านำเห็ดขนาดใหญ่ น้ำหนักเท่าชิ้นเฉียดกิโลมาวางขาย ปรากฏขายดิบขายดีทีเดียว ราคาขายก็สูงถึง ก.ก.ละ 100 บาท แม่ค้าบอกว่าเป็นเห็ดโต่งฝน รสชาติอร่อยขายดี สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด ต้มยำ ชุบแป้งทอด หรือนึ่งจิ้มน้ำพริกก็อร่อยแซบทุกเมนุ
รู้จักธรรมชาติของ เห็ดโต่งฝน
เห็ดโต่งฝนปลูกอย่างไรนั้น ผู้เขียนเพิ่งได้คำตอบหลังไปเยี่ยมชม “เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม ” ( Khao Yai panorama farm ) ซึ่งเป็นธุรกิจฟาร์มเห็ดท่องเที่ยว บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง ตั้งอยู่บนถนนธนะรัชต์ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เลขที่ 297 ม.6 ถ.ธนะรัชน์ ต. หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 โทรศัพท์ 044-756-234 ฟาร์มแห่งนี้ ปลูกเห็ดโต่งฝนไว้ใต้ต้นมะม่วงเห็ดโต่งฝนเป็นเห็ดป่าขนาดใหญ่สีขาวเกมเทา กำลังเบ่งบานเหมือนเห็ดป่าที่เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติ ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าว่าเห็ดโต่งฝนเป็นเห็ดป่าพื้นบ้านของลาว คำว่า โต่งฝนหรือโต่งฝนในภาษาอีสานแปลว่าภาชนะรองรับน้ำฝน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ดอกเห็ดจะเจริญงอกงามได้เร็ว ดอกมีขนาดใหญ่จนสามารถใช้รองน้ำฝนได้เมื่อฝนตก
เห็ดโต่งฝน มีถิ่นกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว (สปป.ลาว) ลักษณะเห็ดเมื่อเล็กคล้ายถั่วหรือกรวย ดอกมีขนาดเล็กตั้งแต่ถ้วยเล็กๆจนถึงขนาดฝ่ามือหรือใหญ่เท่าหมวกก็มีดอกโตเต็มที่ขอบหยักและม้วนขึ้นมีลักษณะดอกคล้ายเห็ดเป๋าฮื้อหมวกดอกทรงร่ม สีครีม ในช่วงดอกตูมจะมีรูปร่างกลมๆ มีขนอ่อน มีสีน้ำตาลอ่อน เมื่อดอกโตขึ้น ปลายดอกจะบานเต็มที่ สีจะจางลง เป็นสีครีมขาว และแผ่บานออกเต็มที่ ส่วนก้านดอกจะใหญ่แข็งและเหนียว หลังเก็บเกี่ยวสารถเก็บเห็ดไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 สัปดาห์
เห็ดโต่งฝน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leninist gigeatus อยู่ในสกุลเห็ดเลนตินัส (Lentinus) เช่นเดียวกับเห็ดหอม มีขอนขาว เห็ดกระด้าง และเห็ดตีนปลอก เห็ดโต่งฝนเป็นเห็ดป่าที่มีขนาดดอกใหญ่ เห็ดโต่งฝนเจริญเติบโตโดยอาศัยอยู่ภายในท่อนไม้ที่ถูกกลบฝังดินอยู่ โดยมันจะย่อยเศษไม้เศษพืช และใช้เป็นอาหารในการเจริญเติบโต เมื่อเส้นใยมีจำนวนมาก ดินมีความชื้นพอดี จะสร้างดอกเห็ดขึ้นมาเหนือผิวดิน ลักษณะคล้ายถ้วยในขณะเล็กแล้วค่อยๆบานออกจนรองรับฝนได้
ในช่วงฤดูฝน หากเจอภาวะอากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นในบรรยากาศสูง ชาวบ้านมักจะออกไปเดินหาเห็ดในป่า หากปีก่อนชาวบ้านเคยเจอเห็ดโต่งฝนในแหล่งใด ในปีนี้พวกเขาก็จะตรงเข้าไปสำรวจเพื่อเก็บเห็ดในบริเวณดังกล่าวก่อนเป็นที่แรก เพราะธรรมชาติของเห็ดโต่งฝนมักงอกงามซ้ำบริเวณเดิมอยู่เสมอดอกเห็ดที่เกิดจากบริเวณดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ดอกจะใหญ่มากบางดอกหนักมากกว่า 1 กิโลกรัมทีเดียว
เทคนิคปลูกเห็ดโต่งฝน
การเพาะเห็ดโต่งฝนทำได้ไม่ยาก ใช้วิธีการทำก้อนเชื้อเหมือนเห็ดถุงทั่วไป การเปิดดอก ให้นำก้อนเชื้อเห็ดโต่งฝนมาฝังในถุงปุ๋ยที่ใส่ดินร่วนผสมกับอินทรียวัตถุในปริมาณ 1:1 หรือฝังลงในดินที่ปูรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว หรือเพาะในตะกร้าก็ได้ สำหรับเขาใหญ่พาโนราม่า ฟาร์มแห่งนี้ เลือกเพาะเห็ดโต่งฝนลงดินเลียนแบบธรรมชาติ โดยปลูกใต้ร่มเงาต้นมะม่วง เพราะมีอากาศค่อนข้างเย็น รดน้ำแบบปลูกผัก เห็ดจะงอกภายใน 40 วัน เก็บผลผลิตใต้ภายใน 4-6 เดือน ผลผลิต 1.5-6กิโลกรัมต่อถุงปุ๋ย เห็ดโต่งฝน 1 ก้อน ให้ผลผลิตประมาณ 0.3-1 กิโลกรัม ต่อการเพาะ 1 รุ่น ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพภูมิอากาศ
ทางเขาใหญ่พาโนราม่า ฟาร์มได้นำก้อนเชื้อเห็ดโต่งฝน มาจากเชียงใหม่นำมาแกะถุงพลาสติกและปลูกลงดินอยู่ใต้ต้นมะม่วง ทางฟาร์มแห่งนี้เคยปลูกเห็ดโต่งฝนที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากถึง 1.7 กก. ต่อต้นทีเดียวเห็ดโต่งฝนมีเนื้อเหนียวเล็กน้อย เวลานำไปปรุงอาหารต้องปอกเปลือกที่ก้านอ่อนนุ่ม สำหรับเห็ดโต่งฝนที่มีขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างหนาหากต้องการให้เนื้อเห็ดสุกง่าย ควรนำไปนึ่งหรืออบในตู้ไมโครเวฟก่อนจึงค่อยนำไปแปรรูป เป็นเมนูอาหารผัด ต้ม ย่าง ตามที่ต้องการ
สำหรับฟาร์ม แห่งนี้นิยมนำเห็ดโต่งฝนไปผัดน้ำมันหอย บางครั้งก็นำไปย่างกับไฟปลานกลาง เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม นำไปย่างและหั่นรับประทานจะมีรสชาติคล้ายเห็ดเป๋าฮื้อและเนื้อปลาหมึกย่างหากนำไปรับประทานกับน้ำจิ้มแจ่ว หรือน้ำจิ้มซีฟู๊ด จะได้รสชาติอร่อยมาก
ชมฟาร์มเห็ดเชิงท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ในลักษณะ “pick&pay”
คุณปรเมศวร์ สิทธิวงศ์ เจ้าของกิจการเขาใหญ่พาโนราม่าฟาร์มเล่าให้ฟังว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้ให้ใช้ปลูกพืชไร่ไม้ผลมาตั้งแต่ปี 2501 จนถึงปัจจุบัน ผมและภรรยาต้องการสร้างธุรกิจสร้างฟาร์มเห็ดเพื่อการท่องเที่ยว โดยร่วมทุนกับเพื่อนสนิท 2 คน คือ คุณธงชัย วรวิวัฒน์ และคุณยศพนธ์ ศตพรพิสิทธิ์ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2554 สำหรับกิจการแห่งนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ปรับเปลี่ยนที่ดินสวนมะม่วง และน้อยหน่า มาสร้างเป็นฟาร์มเห็ดเชิงท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในลักษณะ “pick&pay” ที่เน้นขายประสบการณ์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเก็บเห็ดสดๆ ที่โรงเพาะได้ด้วยตนเอง โดยขายเห็ดสดในราคาไม่แพง อยู่ระหว่างตลาดค้าสดกับซุปเปอร์มาร์เก็ตยกตัวอย่าง เช่น เห็ดโคนญี่ปุ่นขายในห้างสรรพสินค้าทั่วไปขีดละ 45-60 บาท แต่ทางฟาร์มจำหน่ายในราคาขีดละ 30 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ทางฟาร์มยังได้นำเนื้อเห็ด 8 ชนิด ได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางนวล เห็ดหูหนู ฯลฯ นำไปอบด้วยเครื่องอบด้วยความร้อนและเป่าให้แห้งที่อุณหภูมิประมาณ 50-60 องศา หลังจากนั้นนำไปบดเป็นผงใส่ในถุงชา เรียกว่า ชาเห็ดโป๊ยเซียน เพียงนำไปแช่น้ำร้อนก็จะได้น้ำชาเห็ดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
หากใครสนใจอยากปลูกเห็ด สามารถแวะเข้ามาเรียนรู้ได้จากที่นี้เพาะปลูกเห็ดเมืองร้อนและเมืองหนาวในโรงเรือนระบบเปิดและระบบปิดถึง 9 ชนิด ได้แก่ เห็ดโคนญี่ปุ่น (ยานางิ) เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฎาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางนวล เห็ดหูหนูเผือก เห็ดหูหนูดำ เห็ดหลินจือ เห็ดโต่งฝน
โดยทั่วไปโรงเรือนระบบเปิดที่เกษตรกรนิยมใช้เพาะเห็ดคือโรงเรือนที่มุงหลังคามุงและคลุมโรงเรือนทั้งสองข้างด้วยผ้าซาแลนภายในโรงเรือนจะมีลักษณะอับชื้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อราจะทำให้เห็ดเสียหายทั้งหมด แต่การออกแบบโรงเรือนระบบเปิดของฟาร์มแห่งนี้มีลักษณะแตกต่างไม่เหมือนใคร ผศ.พิเชษฐ์ โสวิทยกุล คณะสถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ออกแบบโรงเรือนระบบเปิดของ เขาใหญ่พาโนราม่า ฟาร์ม มีสไตล์โมเดิร์น โดยเลือกใช้ผนังตาข่าย ใช้เหล็กแผ่นเป็นหลังคาและนำทรายมาเทรองพื้น สภาพอากาศภายในโรงเรือน แห่งนี้โปร่งสบาย เพราะอากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังติดตั้งราวเหล็กสำหรับห้อยก้อนเชื้อเห็ดอย่างสวยงาม
คุณปรเมศวร์ เล่าว่า หากตรวจเจอเชื้อรา จะรีบนำก้อนเห็ดที่มีปัญหาออกทิ้งทันทีส่วนเชื้อโรคที่ฟุ้งกระจายภายในโรงเรือน ก็ไม่ต้องห่วงกังวนแต่อย่างใด เพราะสภาพอาคารที่โปร่งสบาย ทำให้อากาศหมุนเวียนถ่ายทอดเชื้อราออกนอกโรงเรือนได้ง่ายขึ้น ภายในโรงเรือนระบบเปิดจะรักษาระดับความชื้นอยู่ที่ 65-70 ช่วงที่ก้อนเห็ดยังไม่ออกดอกผมจะเปิดระบบน้ำสปริงเกอร์ภายในโรงเรือน เมื่อเห็ดออกดอกแล้ว ก็จะเปลี่ยนมาราดน้ำบนพื้นทรายวันละ 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือนระบบเปิด หากช่วงใดความชื้นน้อยจะรดน้ำเพิ่มขึ้น การปูพื้นด้วยทรายมีข้อเสียคือ เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาเชื้อโรค จึงต้องคอยทำความสะอาดพื้นทรายทุกครั้งที่เปลี่ยนก้อนเชื้อเห็ด โดยปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นทราย เพื่อระบายสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่ตกค้างในพื้นทรายให้ไหลออกมา
หากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากรู้ข้อมูลการปลูกเห็ดโต่งฝนหรือเห็ดเศรษฐกิจอื่นๆเพิ่มเติมอยากไปพูดคุยกับคุณปรเมศวร์ ได้ที่ “เขาใหญ่พาโนราม่า ฟาร์ม” แค่ขับรถออกจาก กทม. ไม่เกิน 2 ชม. ก็เจอแล้ว หรือลองศึกษาข้อมูลฟาร์มเห็ดแห่งนี้ได้ก่อนใครที่ Website http://www.kpffarm.comได้ตลอดเวลา